xs
xsm
sm
md
lg

ศึก “เซ็นทรัล วิลเลจ” AOT vs CPN ขิงก็รา ข่าก็แรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การตลาด - ศึกใหญ่ “เซ็นทรัล วิลเลจ” ระหว่าง ทอท. กับซีพีเอ็น ยังไม่จบ ศาลปกครองยังไม่ตัดสิน ด้านเซ็นทรัลยืนยันเปิดบริการแน่วันที่ 31 ส.ค.นี้ เผยร้านค้าพร้อม 70% ลั่นมีแผนสองรองรับถ้าเข้า-ออกไม่ได้ ยันทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ด้าน ทอท.ยังมั่นใจ จี้ กพท.ตรวจสอบการก่อสร้างโครงการ



โครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชัวรี เอาต์เลต แห่งแรกของประเทศไทย มูลค่า 5,000 ล้านบาท ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ของตระกูลจิราธิวัฒน์ บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ หรือ 40,000 กว่าตารางเมตร ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีกำหนดเปิดบริการในวันที่ 31 สิงหาคม 2562 นี้

ตามกำหนดเดิมคือจะเชิญสื่อมวลชนไปร่วมงานพิธีเปิดและให้สัมภาษณ์ในวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคมนี้ที่โครงการ

กลายเป็นเรื่อง "เปิดศึก" ไปเสียแล้ว



ทั้งๆ ที่ตั้งแต่ก่อสร้างมาไม่เคยมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ไม่เคยมีหน่วยงานใดมาทักท้วงอ้างว่าผิดนั่นผิดนี่ กระทั่งจะเปิดใช้บริการอยู่วันสองวันนี้แล้วก็เกิดเรื่องไม่คาดคิดจนได้

เมื่อบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ปฏิบัติการรวดเร็ว ส่งเจ้าหน้าที่มาปิดกั้นทางเข้า-ออกโครงการเซ็นทรัล วิลเลจแบบฉับพลัน ส่งผลให้โครงการสะดุด บริษัทรับเหมาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเข้าออกปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างสะดวก โดย ทอท.อ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของ ทอท. และพื้นที่โครงการถือเป็นพื้นที่ตาบอด และอีกสารพัด

เจอแบบนี้เข้าไป ซีพีเอ็นนิ่งเฉยไม่ได้แล้ว ต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรม โดยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว โดยศาลได้นัดไต่สวนฉุกเฉินในวันพุธที่ 28 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ศาลยังไม่มีคำสั่งออกมาในวันดังกล่าว


ล่าสุดซีพีเอ็นได้เชิญสื่อมวลชนอย่างกะทันหันไปสังเกตการณ์ในพื้นที่พร้อมให้สัมภาษณ์ที่โครงการช่วงเช้าของวันพุธที่ 28 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ศาลปกครองจะนัดไต่สวนฉุกเฉินในช่วงบ่ายด้วย

*** ร้านค้าพร้อมเปิดวันแรก 70%
นายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวยืนยันว่า โครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ของเราเตรียมพร้อมที่จะเปิดอยู่แล้วในวันที่ 31 สิงหาคม 2562 นี้ ก็แค่เอาเต็นท์สองอันนั้นที่ขวางทางเข้าออกของเราออกไป เราจะพยายามทุกวิถีทางที่จะเจรจาเพื่อขอร้องให้เอาออกไปก่อน โดยไม่ว่าศาลปกครองจะมีคำตัดสินออกมาอย่างไร บริษัทฯ ก็จะเปิดบริการแน่นอน

คาดว่าในวันเปิดจะมีร้านค้าเปิดได้ประมาณ 70% จากทั้งหมด 150 ร้านค้า และจะทยอยเปิดเพิ่มได้ครบต่อไป ส่วนผู้มาใช้บริการคาดว่าในแต่ละวันจะมีประมาณ 20,000 คนต่อวันในช่วงแรก และจะสร้างเม็ดเงินสะพัดให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี

“ทุกอย่างคงต้องรอพิจารณารายละเอียด กรณีนี้เราทำทุกอย่างถูกต้องต่อหน่วยงานรัฐ แต่เมื่อมีการดำเนินการจากทาง ทอท.ที่ไม่ถูกต้อง เราต้องดำเนินการเป็นเรื่องการแจ้งความร้องทุกข์และร้องศาลปกครอง ซึ่งจะมีการไต่สวนร้องทุกข์กันในวันนี้ (28 ส.ค.) พร้อมกับทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้ามาดูแลหาข้อยุติที่ถูกต้อง ส่วนเรื่องไทม์ไลน์นั้นเราก็มีส่งให้หน่วยงานราชการอยู่แล้ว ทุกอย่างชัดเจน จะทำอะไรต้องขออนุมัติก่อน เสร็จแล้วค่อยทำเป็นขั้นตอนไป”


อย่างไรก็ตาม นายปรีชายอมรับว่าที่ผ่านมาอาจจะไม่เคยคุยกับทาง ทอท. เพราะเราขออนุญาตกับทาง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เราไม่เห็นมีความจำเป็นต้องคุยกับ ทอท. เพราะเราขออนุญาตกับทาง กพท. เพราะว่า 2 ประเด็นหลัก คือ

1. ที่ดินโครงการของเราอยู่นอกเขตของ ทอท. จึงไม่จำเป็นต้องเจรจาเพราะไม่เกี่ยวข้อง

2. ทุกอย่างต้องผ่านทาง กพท.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุม ทอท.อยู่แล้ว คงต้องเป็นการสื่อสารภายในภาครัฐเอง เราไม่สามารถจะไปคุยกับทุกคนได้

“เราทำงานมาแล้ว 5 ปี ก่อสร้างมา 2 ปีไม่เคยมีใครมาท้วงติงอะไรเลย เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทุกอย่าง เราขออนุมัติทาง กพท. ส่วนที่มีการกล่าวกันว่าจะมีอันตรายต่อการบินเพราะว่าจะมีแสงเลเซอร์ ก็เป็นการคาดเดากันไป เอาต์เลตมอลล์เป็นร้านค้าแบบที่เราเห็น ไม่ใช่โรงมหรสพ ในต่างประเทศก็จะเห็นมีอยู่ใกล้สนามบิน 5 นาที 10 นาที อเมริกาก็มี ดอนเมืองเองก็วิ่งไป 2 กิโลเมตรก็ลองดูสิครับ กิจการต่างๆ เต็มไปหมด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราให้ความเคารพกฎหมายและความปลอดภัยทางการบิน เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเราเข้าทางหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่” นายปรีชากล่าว

กรณีเรื่องที่ดินว่าเป็นของ ทอท.ดูแลนั้น ซีพีเอ็นย้ำว่า การที่มีหน่วยงานมาอ้างว่าพื้นที่หน้าทางเข้าของเราซึ่งเรายืนยันว่าเป็นของทางหลวงแผ่นดิน แต่จู่ๆ ไหล่ทางตรงนี้ไม่ใช่ถนนเป็นที่ราชพัสดุที่ทางนั้นเขาบอกดูแลอยู่ และตีความเพียงฝ่ายเดียวแล้วก็เอาของมากั้น ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูก เราก็ฟ้องร้องขอความเป็นธรรมในส่วนนี้ ซึ่งที่แสดงมาทั้งทางกฎหมาย ทางปฏิบัติมันชัดนี่คือทางหลวงแผ่นดินครอบคลุมไหล่ทาง ตามหลักฐานที่เรามีและชี้ไปแล้ว

“เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้กับเรา ร้านค้า ผู้รับเหมางานต่างๆ พนักงานทำงาน และพนักงานร้านค้าอีกกว่า 1,000 คนเดือดร้อน อยากให้ทุกอย่างดำเนินไปตามกระบวนการที่ถูกต้อง นั่งลงคุยกันหาทางออกที่ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบการทั้ง 150 ราย ไม่ให้กระทบเศรษฐกิจ และทำในสิ่งที่ควรรับผิดชอบให้ถูกต้อง ที่ผ่านมาอาจจะเกิดความสับสนระหว่างหน่วยงานของภาครัฐในการตีความต่างๆ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถึงแม้ว่าจะเกิดความสงสัยก็สามารถหาข้อยุติกันได้ตามกระบวกการกฎหมาย แต่ว่าการที่ตีความฝ่ายเดียวแล้วก็มาอ้างสิทธิ์โดยพลการถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทางเราเองก็ดำเนินการฟ้องร้อง อย่างไรก็ตามการทำแบบนี้ก็ไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย คงจะต้องหาข้อยุติตามกระบวนการทางกฎหมาย เราก็เคารพและอยู่ภายใต้กฎหมาย”

*** ซีพีเอ็นแจงข้อเท็จจริง “พื้นที่-ก่อสร้าง”
สำหรับประเด็นที่บริษัทฯ ขอชี้แจงมี 3 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นที่ 1: พื้นที่โครงการมีการเชื่อมทางเข้าออกอย่างถูกต้อง ไม่มีการรุกล้ำที่ดินของภาครัฐ (ที่ราชพัสดุ ลำรางสาธารณะ) และไม่ได้เป็นที่ดินตาบอด

• ที่ดินโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ตั้งอยู่บนที่ดินที่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท.
• ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เดิมเป็นที่ราชพัสดุ ต่อมากรมทางหลวงได้พัฒนาเป็นทางหลวงแผ่นดิน โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทำให้ไม่มีสถานะเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 7 (2) พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 และเป็นพื้นที่คนละบริเวณกันกับที่ภาครัฐเวนคืนมาเพื่อสร้างสนามบินที่ ทอท.ดูแล
• โครงการได้รับอนุญาตเชื่อมทางอย่างถูกต้องจากกรมทางหลวง ซึ่งเป็นผู้ซึ่งมีอำนาจเต็มในการอนุมัติการเชื่อมทางแต่เพียงผู้เดียว
• ทั้งนี้ พื้นที่ทางหลวงหมายเลข 370 หมายรวมถึง เขตทาง และไหล่ทาง ซึ่งติดกับที่ดินของเอกชนสองข้างถนน ซึ่งที่ดินของโครงการมีแนวเขตแนบสนิทต่อเนื่องกับเขตทางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ดังนั้น ที่ดินของโครงการจึงไม่ใช่ที่ดินตาบอด

ประเด็นที่ 2: บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองอย่างเคร่งครัด
• โครงการนี้ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องในการก่อสร้างในพื้นที่สีเขียว บริเวณ ก1-10 ไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินพื้นที่สีเขียวบริเวณดังกล่าว โดยโครงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายผังเมือง
• และไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 3 คือ บริษัทฯ ได้ขออนุญาตก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อย่างถูกต้อง
• โครงการมีความปลอดภัยต่อการบิน ไม่ได้ละเมิดกฎใดๆ ทั้งด้านความสูง และไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสนามบิน หรือรบกวนการบินแต่อย่างใด โดยแบบมีความสูงที่ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการติดธงแดงตามที่มีการกล่าวอ้าง

*** ทอท.เดินหน้าชี้ประเด็น

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นอกจาก ทอท.ปิดทางเข้า-ออกแล้ว ทอท. โดยนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ก็ออกมาประกาศเสียงดังฟังชัด ว่า โครงการดังกล่าวมีปัญหาหลายอย่าง สรุปง่ายๆ คือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบุกรุกพื้นที่ การวางแนวทางท่อประปา ความเหมาะสมของโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าว ปัญหาความปลอดภัยเกี่ยวกับเรื่องการบิน เป็นต้น (ดูอินโฟกราฟิก ทอท.แจงปัญหาหลักล่าสุดของ เซ็นทรัล วิลเลจ ประกอบ)

ขณะที่ทางสหภาพแรงงาน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้เคลื่อนไหว โดยระบุว่า นอกจากการตรวจสอบสิ่งก่อสร้างอันเป็นสิ่งกีดขวางในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศแล้ว ต้องพิจารณา ประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. การรบกวนสัญญาณเครื่องช่วยในการเดินอากาศ
2. แสงไฟภายนอกสนามบิน (non aeronautical light ) อันส่งผลต่อการปฏิบัติการบิน ที่ต้องมีการควบคุมตามข้อกำหนด ICAO
3. กิจกรรมที่อาจเกิดมีควันที่ส่งผลให้ทัศนวิสัยสนามบินลดลง โดยเฉพาะการมองเห็นทางวิ่งในแนวร่อนลง
4. กิจกรรมที่อาจนำไปสู่การนำนกมาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
5. Laser emission free zone ที่ต้องมีการควบคุมออกไปภายนอกสนามบินตามข้อกำหนด ICAO
6. กิจกรรมอันส่งผลต่อแผนแม่บทและแผนพัฒนาสนามบิน โดยเฉพาะส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบหลัก ที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือ Access capacity ที่เกิดได้จากบริเวณภายนอกใกล้เคียงสนามบิน ที่ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในการทำแผนแม่บท และถูกกำกับจากรัฐ ตามข้อกำหนด

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ทอท.ยังคงมั่นใจว่าเป็นฝ่ายถูก โดยการยื่นหนังสือไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อให้ช่วยตรวจสอบการก่อสร้างโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชัวรี เอาต์เลต ที่อยู่ห่างจากเขตทำการบินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) เพียง 1 กิโลเมตร (กม.) เพราะเกรงว่า โครงการนี้อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยด้านการบินหรือไม่ คือ 1. ศูนย์การค้าฯ ปล่อยคลื่นสัญญาณต่างๆ รบกวนเครื่องช่วยการเดินอากาศหรือไม่

2. แสงไฟจากศูนย์การค้าฯ จะกระทบต่อนักบินหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้มีกรณีของสนามกอล์ฟแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ห่างจาก ทสภ.ประมาณ 2 กม. ปรากฏว่ามีแสงไฟแยงตานักบิน และนักบินคิดว่าเป็นไฟรันเวย์ จึงอยากให้ช่วยตรวจสอบ เพราะศูนย์การค้าฯ แห่งนี้อยู่ใกล้สนามบินมากกว่าสนามกอล์ฟ

3. มีกิจกรรมที่อาจเกิดควันหรือไม่ 4. มีกิจกรรมที่ดึงดูดนกหรือไม่ เช่น เศษอาหาร 5. การปล่อยแสงเลเซอร์ขึ้นไปสู่อากาศ 6. ระบบเข้าและออกศูนย์การค้าฯ ต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด เพราะหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน รถฉุกเฉินจะได้ใช้เป็นทางเข้าออกได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่สามารถลงไปตรวจสอบได้ทันที ต้องรอให้ศูนย์การค้าฯ เปิดให้บริการแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น