xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” เด้งรับสหรัฐฯ จ่อหารือ กนอ.เคลียร์ถมทะเลรับลงทุนเอ็กซอนโมบิล 3.3 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตัวแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริการุดพบ “สุริยะ” ยืนยันแผนลงทุน “เอ็กซอนโมบิล” 3.3 แสนล้านบาทมาแน่ขอให้ไทยหนุนเรื่องถมทะเลตามแผน "สุริยะ" เด้งรับพร้อมประสาน กนอ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเคลียร์งานส่งการบ้าน "สมคิด" ตรวจเยี่ยม 14 ส.ค.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าพบและได้ยืนยันถึงแผนการลงทุนของ บริษัท เอ็กซอนโมบิล คอร์ปอเรชั่น ต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มูลค่า 330,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม พื้นที่รองรับการลงทุน 1,000 ไร่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จำเป็นต้องถมทะเลจึงต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว

"ทางสหรัฐฯ ต้องการให้รัฐบาลไทยโดยเฉพาะการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ศึกษาพื้นที่ถมทะเลรองรับให้อยู่ โดยคาดว่าจะสรุปแผนได้ภายใน 3-4 เดือนนี้ จากนั้นจะเริ่มดำเนินการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)โดยเรื่องนี้ผมขอให้ทางเอ็กซอนฯเข้าหารือถึงรายละเอียดแผนลงทุนอีกครั้ง และพร้อมจะประสาน กนอ.ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับกระทรวงฯให้ในระหว่างการไปตรวจเยี่ยม กนอ. 16 ส.ค.นี้" นายสุริยะกล่าว

ขณะเดียวกัน คงจะต้องหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต่อกฎเกณฑ์ต่างๆ ของการส่งเสริมการลงทุน ว่าต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะพยายามสนองความต้องการให้เอ็กซอนฯ เนื่องจากเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับไทย เช่นเดียวกับการถมทะเลที่เบื้องต้น กนอ.เองก็ขอเวลาศึกษา ซึ่งแนวทางการถมทะเลในต่างประเทศสามารถทำได้ที่ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ขณะที่เรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นมีแผนรองรับ และสามารถป้องกันได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ทางสถานทูตอเมริกายังขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกันส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่ง SMEs ของสหรัฐฯ บางส่วนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยโดยเฉพาะประเภทกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่รัฐบาลส่งเสริม ส่วนกรณีที่ไทยกำลังผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการบินโดยมีโครงการตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยาน และสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินต่างๆ ในพื้นที่อีอีซี การหารือครั้งนี้สหรัฐฯ เองระบุว่าแม้ทางโบอิ้งจะไม่มีแผนการลงทุนผลิตโดยตรงที่ไทย แต่ยินดีหากไทยผลิตเบาะที่นั่งสำหรับเครื่องบินให้โบอิ้งได้

"การคุยกับทูตฯ ครั้งนี้นับเป็นการเปิดโอกาส และหาผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เครื่องบินเพื่อให้โบอิ้งในอนาคต ซึ่งปัจจุบันการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินจะมีการแบ่งบางส่วนไปผลิตที่ญี่ปุ่นและประกอบ ซึ่งไทยน่าจะมีความสามารถทำได้เช่นกัน ส่วนกรณีสงครามการค้าที่เกิดขึ้นสหรัฐฯ ชี้แจงว่าไม่ได้ต้องการให้เกิด แต่ด้วยการที่สหรัฐฯ เสียดุลการค้าไปมาก และยังคงต้องการอยากให้สงบโดยเร็ว พร้อมกันนี้ นายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ ได้กล่าวย้ำว่าไทยมีโครงการดีๆ นักลงทุนก็สนใจมาลงทุนไทยอยู่แล้วโดยเฉพาะในอีอีซี" นายสุริยะกล่าว

นายสุริยะยังกล่าวอีกว่า วันที่ 14 ส.ค. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เตรียมเดินทางมาตรวจเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อติดตามงานและมอบนโยบาย ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอเวลา 100 วันที่จะกำหนดแผนปฏิบัติงานในแต่ละด้านให้แล้วเสร็จเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ราคาอ้อย การยกระดับเอสเอ็มอี การสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น