xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ศึกษาผลกระทบสงครามการค้าระลอกใหม่ หวังรับมือส่งออกทรุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ส.อ.ท.เร่งศึกษาผลกระทบสงครามการค้าระลอกใหม่ ครอบคลุมสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนอีก 10% มีผล 1 ก.ย.นี้ แถมอาจยกระดับสู่สงครามค่าเงิน ผนวกการศึกษาเพิ่มเติมกรณีขึ้นค่าแรง 400 บาทต่อวันให้แล้วเสร็จภายใน ส.ค.นี้ หวังเตรียมหาทางรับมือ

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ทำการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติมหลังจากที่สหรัฐฯ เตรียมขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีนอีก 10% ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน โดยมีผลต่อสินค้านำเข้ามูลค่ารวม 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ผลกระทบจากการที่จีนมีการตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับกว่า 7 หยวนต่อเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิงหาคมนี้

“ก่อนหน้านี้คณะทำงานได้ศึกษาผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน ในส่วนของการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบแรกมูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งครั้งนั้นผลการศึกษาพบว่าไทยได้รับผลกระทบไม่มากนักในภาพรวม แต่เมื่อจีนใช้นโยบายค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงมา สหรัฐฯ จึงตอบโต้การขึ้นภาษีที่เหลือของจีน ขณะที่สองฝ่ายยังไม่สามารถทำข้อตกลงยุติสงครามการค้ากันได้ และมีแนวโน้มที่ความขัดแย้งจะบานปลายกลายเป็นสงครามค่าเงิน ทำให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เหล่านี้ย่อมทำให้มีผลกระทบต่อการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อมมากขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2562 ก่อนหน้านี้ ส.อ.ท.เคยประเมินเอาไว้ว่าจะปรับตัวลดลงเหลือ 0-1% จากเดิมคาดไว้โต 3-5% ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปีนี้คาดการณ์เติบโตลดลงอยู่ที่ 3.4-3.5% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.7-4% และหากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีนทั้งหมด ที่มีมูลค่า 320,000 ล้านบาท มีแนวโน้มว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมให้ลดต่ำลงไปอีก โดยเฉพาะการส่งออกที่มีโอกาสติดลบ โดยจะเห็นว่าหลายสำนักเริ่มออกมาคาดการณ์แล้วว่าแนวโน้มการส่งออกไทยจะติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี

นอกจากนี้แล้ว การศึกษายังจะมีการวิเคราะห์กรณีหากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันเข้าไปผนวกด้วย เนื่องจากเห็นว่าเป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อชี้ให้เห็นว่าเมื่อมีปัจจัยนี้เข้ามาแล้วทิศทางเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร นอกเหนือจากปัจจัยด้านสงครามการค้าและค่าเงินบาทที่แข็งค่า เพื่อที่จะส่งสัญญาณให้ภาครัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้นำไปกำหนดนโยบายและมาตรการในการรองรับกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น

“แม้ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ขณะนี้รัฐบาลย้ำว่าจะไม่ได้ขึ้นทันทีทันใด แต่ ส.อ.ท.ก็จะศึกษาไว้ทีเดียว เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงทิศทางภาพรวม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก ทุกฝ่ายจะได้เตรียมรับมือ” นายเกรียงไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น