xs
xsm
sm
md
lg

ม.รามฯ เปิดเวทีถกมาตรการลดอุบัติเหตุ คุม “เมาไม่ขับ” เหลว-เสนอใช้ กม.เข้มข้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เวทีเสวนานิติศาสตร์ ม.รามฯ ถกปัญหาลดอุบัติเหตุบนถนน แนะรัฐบาลดันเป็นวาระแห่งชาติ “ทนายดังและอดีต สนช.” เสนอให้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.จราจรทางบก และ พ.ร.บ.แอลกอฮอล์ให้เกิดประสิทธิภาพควบคู่กับการสร้างวินัยจราจร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดเสวนาทางวิชาการเนื่องในวันรพี หรือวันบิดาแห่งกฎหมายไทย ในหัวข้อ “กฎหมาย..ยาแรงลดอุบัติเหตุ? ทำไมลดอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ได้ กับความท้าทายการบังคับใช้กฎหมาย”

โดยมีผู้เสวนา ประกอบด้วย พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, นายประพันธ์ คูณมี ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแอลกอฮอล์, นายแพทย์ แท้จริง ศิริพาณิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ, นายรณยุธ ตั้งรวมทรัพย์ อดีตรองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และนายปัญญา สิทธิสาครศิลป์ ทนายความหุ้นส่วน บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด โดยมี นายประมาณ เลืองวัฒนะวณิช ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย กรรมการบริหารสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้ดำเนินรายการ

วงเสวนามีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลผู้ใช้รถใช้ถนน ในด้านของความปลอดภัย ที่มีพระราชบัญญัติหลักๆ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกออล์ พ.ศ. 2551 นั้น แม้จะมีข้อบังคับที่เมื่อทำผิดแล้วก็มีบทลงโทษรุนแรงไม่น้อยไปกว่าในหลายประเทศ แต่ก็มีการปฏิบัติและพฤติกรรมหลายประการ ที่ทำให้เจตนารมณ์ของการร่างและบังคับใช้กฎหมายยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยยังไม่ลดลงอย่างที่ตั้งใจ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสถิติการเสียชีวิตบนท้องถนนของคนไทยเฉลี่ยที่วันละ 60 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและน่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะเป็นสถิติการเสียชีวิตที่มากกว่าโรคภัยที่ร้ายแรง

พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ กล่าวว่า การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุยังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก อาทิ การกำหนดให้มีระบบบันทึกคะแนนความประพฤติของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ ที่หากทำผิดจนถูกตัดคะแนนไปจนหมดจะถูกพักใช้ใบขับขี่ครั้งละ 90 วัน และถ้าทำผิดซ้ำภายใน 1 ปี จะถูกเสนอให้สั่งเพิกถอนใบขับขี่

“ผมใช้เวลามา 3 ปีในการผลักดันเรื่องนี้ ไม่ใช่ตำรวจอยากยึดใบอนุญาต แต่อยากปรับพฤติกรรมให้ผู้ขับรถรู้ตัว เพราะเมื่อทำผิดถูกตัดคะแนน คุณต้องมีพฤติกรรมแสดงให้เห็นว่าคุณไม่ทำอีก โอกาสที่จะได้คะแนนหายไปก็จะคืนมา ถ้าเราไม่ปรับพฤติกรรมกัน ก็เป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหาได้” พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม คำขวัญว่า ‘วินัยจราจร สะท้อนวินัยชาติ’ แต่คนใช้รถใช้ถนนไม่มีวินัย เช่น เห็นไฟเหลือง ยิ่งเร่งความเร็วให้พ้น แต่พอไปต่างประเทศ กลัวกฎหมายประเทศเขา ทำไมพอกลับมาเมืองไทยกลับไม่เป็นอย่างนั้น ขณะที่กฎหมายก็ใช้เหมือนๆ กัน หรือเพราะคิดว่าสภาพการบังคับใช้กฎหมายเมืองไทยเอื้อต่อการทำผิดหรือเปล่า แล้วเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง 40% ของผู้เสียชีวิตคือหัวหน้าครอบครัว เช่นนี้ถึงเวลาต้องดิ้นรนผลักดันให้กฎหมายดีขึ้นหรือยัง” พล.ต.ต.เอกรักษ์กล่าว

นายแพทย์ แท้จริง ศิริพาณิช กล่าวว่า รณรงค์เรื่องเมาไม่ขับมากว่า 20 ปี ทั้งจัดกิจกรรม หรือร่วมผลักดันการออก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งแต่ยังขาดหัวใจหลัก
การที่ยังมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 60 คนต่อวันนั้น ซึ่งกฎหมายนั้นใช้ได้กับทุกประเทศ แต่ไม่ใช่กับประเทศไทย เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์กว่า คือเงิน คดีดังๆ กรณีมีอุบัติเหตุจราจร มีใครติดคุกบ้างหรือยัง แล้วใครจะกลัวกัน นี่คือความเสียหายที่ประเทศไทยยังก้าวไม่ข้าม

“อยากให้นายกรัฐมนตรีของประเทศเป็นผู้นำแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ต้องกำหนดเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลต้องทำ เขียนเป็นนโยบายมาให้ชัดเจนจะเอาอย่างไร เป้าหมายต้องมี” นายแพทย์ แท้จริงกล่าว

นายรณยุธ ตั้งรวมทรัพย์ กล่าวว่า การลดอุบัติเหตุนั้น นอกจากกฎหมายซึ่งก็น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกคนแล้ว ผู้ใช้รถใช้ถนนก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการปรับพฤติกรรมของตัวเอง อยู่ที่วินัย ความหวังอยู่ที่เยาวชนรุ่นลูกรุ่นหลานที่จะต้องดีขึ้น ซึ่งต้องสร้างกันตั้งแต่ในโรงเรียน

พ.ร.บ.แอลกอฮอล์เข้มแข็ง แต่เน้นจับผิดมากกว่าป้องกัน

สำหรับประเทศไทยมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2551 แต่ผ่านมา 10 ปีก็เริ่มมีเสียงสะท้อนว่าเจตนารมณ์การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ทำให้อุบัติเหตุลดลง หรือแม้แต่ไม่ได้ทำให้มีผู้ดื่มสุราน้อยลง โดยนายประพันธ์ คูณมี ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงเมื่อครั้งจัดทำร่างพระราชบัญญัตินี้ กล่าวว่า เจตนาของการออกกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ควบคู่ไปกับพระราชบัญญัติจราจรทางบก แต่ผลปรากฏว่าไม่ได้ให้ทั้งการลดอุบัติเหตุและการดื่มสุราลดลงมาเลย เพราะว่าพอกฎหมายมีผลบังคับใช้ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก็ไปเน้นไล่จับคนกินคนดื่ม แต่ไม่ได้จริงจังกับการควบคุม ไม่ให้คนเหล่านี้ออกมาขับขี่รถยนต์บนท้องถนน

พ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์กลายเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ใช้เชิงจับผิด ซึ่งรางวัลนำจับให้ผู้ชี้เบาะแส 60% และรางวัลนำจับ 80% ยืนยันกฎหมายยังจำเป็นต้องมี แต่ต้องทบทวนการใช้กฎหมายและรัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ

นายปัญญา สิทธิสาครศิลป์ กล่าวว่า ปัญหาของการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์อยู่ที่การตีความ ซึ่งไปมุ่งกันที่คนขาย แต่ไม่ใช่มุ่งแก้ที่คนเมา เมาแล้วจะเป็นอย่างไร ทำอย่างไร ยิ่งไปทำผิดแล้วการลงโทษต้องแค่ไหน

นายปัญญากล่าวด้วยว่า เมื่อพระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผลในเรื่องของการป้องกัน ปราบปราม รณรงค์ ให้ลดจำนวนอุบัติเหตุ และลดจำนวนผู้ดื่ม ก็ต้องทบทวนแก้ไข และควรนำเทคโนโลยีมาแก้ไข เช่น การติดกล้องคุณภาพสูง การตรวจสอบใบขับขี่ ยังจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ามาก รวมถึงเร่งการปลุกจิตสำนึกประชาชน




กำลังโหลดความคิดเห็น