xs
xsm
sm
md
lg

IRPC กำไร 6 เดือนแรกฮวบ 90% ลุ้นไตรมาส 3 ทิศทางปิโตรเคมีดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไออาร์พีซีกำไร 6 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 660 ล้านบาท ลดลง 90% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เหตุมาร์จิ้นปิโตรเคมีและปิโตรเลียมลดลง และบันทึกค่าใช้จ่ายเงินชดเชยกฎหมายแรงงาน คาดไตรมาส 3 นี้แนวโน้มความต้องการเม็ดพลาสติกสูงขึ้นและราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 60-67 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยผลประกอบการในไตรมาส 2/2562 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 506.93ล้านบาท ลดลงมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4,049.57ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิ 6 เดือนแรกปีนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิ 659.84 ล้านบาท ลดลง 90%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6,801.49 ล้านบาท

ผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2562 เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2561 IRPC มีรายได้จากการขายสุทธิ จำนวน 111,976 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 สาเหตุหลักเกิดจากราคาขายเฉลี่ยลดลงตามราคาน้ำมันดิบ โดยอัตราการกลั่นน้ำมันอยู่ที่ 203,000 บาร์เรล/วัน ลดลง 8,000 บาร์เรล/วัน เนื่องจากโรงงาน RDCC หยุดผลิตเป็นเวลา 28 วัน ในไตรมาส 1 และมี Market GIM จำนวน 10,387 ล้านบาท (8.90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล) ลดลงร้อยละ 39 เนื่องจากส่วนต่างราคาปิโตรเลียมและปิโตรเคมีปรับตัวลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยืดเยื้อ การเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตใหม่ในภูมิภาค และอัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดย IRPC มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิรวม 1,211 ล้านบาท ลดลง 1,208 ล้านบาท ส่งผลให้ Accounting GIM มีจำนวน 11,598 ล้านบาท (9.94 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล) ลดลงร้อยละ 40

ขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายในรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ส่งผลให้มี EBITDA อยู่ที่ 4,659 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 63 อย่างไรก็ตาม IRPC มีต้นทุนทางการเงินลดลงและมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีกำไรสุทธิจำนวน 660 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ บริษัทคำนึงถึงการสร้างเสถียรภาพทางการเงิน โดยได้ออกมาตรการเพื่อรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก บริหารสภาพคล่องของธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้เหมาะสม โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2562 IRPC มีเงินสดคงเหลืออยู่ที่ 1,915 ล้านบาท และมีงบลงทุนที่มีแผนการดำเนินงานชัดเจน (committed) จำนวน 71,043 ล้านบาท

นายนพดลกล่าวต่อไปว่า บริษัทมุ่งเน้นการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน ด้วยการเดินหน้าด้านการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty Grade) ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ด้วยการพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติก HDPE (High Density Polyethylene:โพลีเอทิลีนที่มีความหนาแน่นสูง) เกรดพิเศษ P301GR มีคุณสมบัติการใช้งานที่โดดเด่นเหมาะสำหรับการผลิตทุ่นโซลาร์ลอยน้ำที่ช่วยลดอุณหภูมิใต้แผงโซลาร์เซลล์ ส่งผลให้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ โครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนของประเทศ โดย IRPC มองถึงการต่อยอดในโครงการโซลาร์ลอยน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018)

นอกจากนี้ IRPC ยังขยายโอกาสด้วยการเพิ่มทางเลือกในการใช้วัตถุดิบในการผลิตน้ำมัน โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับคู่ค้า โดยการใช้น้ำมันจากขยะพลาสติกแปรรูป 300,000-400,000 ลิตร/เดือน ที่ผ่านเทคโนโลยีทันสมัย “ไพโรไลซิส” ได้น้ำมันดิบที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ลดปริมาณขยะได้ 560 ตัน/เดือน ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจให้เป็นไปตามแผน พร้อมตอบโจทย์แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สอดรับนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

สำหรับแนวโน้มภาวะตลาดน้ำมันดิบในไตรมาส 3/2562 คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวในกรอบ 60-67 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความร่วมมือในการขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกออกไปอีก 9 เดือน โดยจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2563 และสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ รวมถึงช่วงฤดูเฮอริเคนในสหรัฐฯ ที่อาจทำให้การผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตในอ่าวเม็กซิโกลดลง

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบจากกำลังการผลิตของสหรัฐฯ และการส่งออกน้ำมันดิบที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากโครงการท่อขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตเพอร์เมียนไปยังอ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นท่าส่งออกน้ำมันดิบหลักของประเทศ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

ส่วนแนวโน้มตลาดปิโตรเคมีในไตรมาส 3/2562 คาดว่าความต้องการเม็ดพลาสติกจะปรับตัวสูงขึ้นจากการยุติการเพิ่มมาตราการทางภาษีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หลังการประชุม G20 ในวันที่ 28-29 มิถุนายน 2562 ประกอบกับโรงกลั่นและปิโตรเคมีขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ในเทกซัสเกิดไฟไหม้ซึ่งกระทบการผลิตผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์โดยตรง รวมถึงการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อลดผลกระทบของการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และภายในประเทศจีนเองก็มีการปรับตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า


กำลังโหลดความคิดเห็น