xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” สั่งตั้งคณะทำงานเช็กข้อมูลต่อสัญญาทางด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ศักดิ์สยาม” สั่ง “ปลัดคมนาคม” ตั้งคณะทำงานเช็กข้อมูลทางด่วนกรณีต่อสัมปทานยุติข้อพิพาท พร้อมนักกฎหมายให้เวลา 2 สัปดาห์รายงานผลเพื่อความรอบคอบ ยันไม่ใช่ล้มกระดาน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรณีการจะขยายสัมปทานทางด่วนให้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อยุติทุกข้อพิพาทระหว่าง กทพ.กับ BEM นั้น ขณะนี้ตนได้มอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เร่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาในระดับกระทรวงขึ้นมา 1 ชุด โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และให้มีนักกฎหมายเข้ามาร่วมพิจารณา โดยให้สรุปข้อมูลภายใน 2 สัปดาห์

“หลักการที่เน้นให้คณะทำงานไปดูตั้งแต่ผลการศึกษา การกำหนด TOR ตัวสัญญา การปฏิบัติตามสัญญา ทำแบบนี้ ไม่ใช่ไปเริ่มต้นกันใหม่ และไม่ใช่การล้มกระดาน หรืออย่างใด แต่เป็นการพิจารณาข้อมูลที่มาทั้งหมดให้รอบคอบก่อนพิจารณาตัดสินใจใดๆ ต้องบอกว่าก่อนหน้านี้ผมยังไม่มีอำนาจไปเรียกเอกสารหรือสั่งการ แต่วันนี้ถือว่าผมสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่แล้ว” นายศักดิ์สยามกล่าว

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า พร้อมนำข้อมูลชี้แจงต่อ รมว.คมนาคม ซึ่ง กทพ.ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ กทพ.เจรจา โดยไม่จ่ายชดเชยเป็นเงินสด, ประชาชนได้รับประโยชน์, ผลประโยชน์ที่ กทพ.ได้รับต้องไม่น้อยกว่าเดิม และข้อพิพาททั้งหมดต้องยกเลิก

ผลการเจรจาในการขยายสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน A, B, C), ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (C บวก) ออกไป 15 ปี

สำหรับผลการเจรจาปรับลดมูลหนี้เหลือ 5.9 หมื่นล้าน และต่อสัญญาทางด่วน 3 โครงการออกไป 15 ปี โดย กทพ.ได้ส่วนแบ่งรายได้ที่ 60% (ไม่น้อยกว่าเดิม) ส่วนสัญญาอีก 15 ปีจะเกิดขึ้น เมื่อเอกชนต้องมีการปรับปรุงทางด่วนเพิ่มประสิทธิภาพ โดยก่อสร้างเป็นทางด่วน 2 ชั้น (double deck) ที่ทางด่วนขั้นที่ 2 จากด่านประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 17 กม. ค่าลงทุน 3.1 หมื่นล้านบาท เป็นต้น โดยให้เวลา 2 ปีในการดำเนินการออกแบบและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งหาก EIA ไม่ได้รับอนุมัติ เท่ากับไม่ได้สัญญาใน 15 ปีหลัง


กำลังโหลดความคิดเห็น