xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาฯ แนะสินค้าช้างเผือกภาคใต้ใช้เอฟทีเอขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศลงใต้ ตามเจอช้างเผือก “ส้มจุกจะนะ-ผลิตภัณฑ์มะม่วงเบา-หัตถกรรมใยตาลโหนดทิ้ง” เป็นสินค้าที่มีโอกาสออกไปทำตลาดต่างประเทศ สบช่องแนะเกษตรกร ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอทำการส่งออก หลังคู่ค้าส่วนใหญ่ลดภาษีนำเข้าให้ไทยแล้ว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติดำเนินโครงการ “การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี ครั้งที่ 6” ให้กับกลุ่มเกษตรกรภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ชุมพร และสตูล ระหว่างวันที่ 22-24 ก.ค. 2562 ณ จังหวัดสงขลา โดยผลจากการลงพื้นที่พบว่ามีสินค้าหลายรายการที่มีโอกาสในการพัฒนาและออกไปทำตลาดต่างประเทศ เช่น ส้มจุกจะนะ ผลิตภัณฑ์มะม่วงเบา และหัตถกรรมใยตาลโหนดทิ้ง เป็นต้น ซึ่งกรมฯ ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเหล่านี้เล็งเห็นถึงโอกาสในการทำตลาดต่างประเทศ และทราบถึงประโยชน์ของความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่จะสามารถใช้เป็นใบเบิกทางส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศคู่ค้าได้

สำหรับผลการพบปะกับวิสาหกิจชุมชนส้มจุกจะนะ ทำให้ทราบว่าอยู่ระหว่างการยื่นขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยส้มจุกจะนะมีความโดดเด่น คือ เป็นส้มที่มีความหอม รสเปรี้ยวอมหวาน ขนาดประมาณ 3-4 ผลต่อกิโลกรัม ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 200 บาท ปัจจุบันผลผลิตไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย และการพบปะกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนาออก อ.สิงนคร พบว่ามีการแปรรูปมะม่วงเบา มีพื้นที่ปลูกมะม่วงเบา 1,000 ไร่ ให้ผลผลิต 1,000 ตันต่อปี มีจุดเด่นคือ ผลเล็ก รสเปรี้ยว กรอบ มีวิตามินสูง มีการแปรรูปเป็นมะม่วงเบาแช่อิ่ม น้ำมะม่วงเบา มะม่วงกวน และแยมมะม่วงเบา เป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการขยายการจำหน่ายไปยังตลาดมาเลเซีย และสิงคโปร์

ส่วนการพบปะกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมใยตาลโหนดทิ้ง อ.สทิงพระ พบว่าเป็นแหล่งปลูกตาลโตนดมากที่สุดในไทย มีผลผลิตมากกว่า 2 ล้านตันต่อปี ใยตาลมีจุดเด่น คือ เหนียว ไม่ขึ้นรา มีความมัน ย้อมสีไม่ได้ แต่มีสีสันเป็นเอกลักษณ์ เหมาะสำหรับงานหัตถกรรมที่มีความประณีตสวยงาม เช่น กระเป๋า หมวก ของประดับบ้าน เป็นต้น ปัจจุบันเป็นสินค้าส่งออกไปตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และกัมพูชา และสำหรับผลตาล สามารถนำมาแปรรูปเป็นลูกตาลสด ลูกตาลน้ำกะทิ ลูกตาลลอยแก้ว น้ำตาลโตนด และตาลโตนดกระป๋อง เป็นต้น

“สินค้าเด่นในพื้นที่ภาคใต้เหล่านี้สามารถที่จะขยายตลาดส่งออกโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอได้ โดยปัจจุบันไทยได้ทำเอฟทีเอจำนวน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง ซึ่งส่วนใหญ่ได้ลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยแล้ว จึงเป็นโอกาสของสินค้าเกษตรไทยที่จะขยายตลาดและส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้” นางอรมนกล่าว

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ 18 ประเทศมีการเติบโตเพิ่มขึ้นมาก โดยในปี 2561 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลก มีมูลค่ากว่า 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกไปประเทศคู่ค้าเอฟทีเอมูลค่ากว่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 64% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร รวมถึงสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น ผลิตภัณฑ์ตาลโตนด เป็นต้น

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จัดเสวนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ช่องทางรวยของสินค้าเกษตรจากเอฟทีเอ” และ “ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรสู่ตลาดเอฟทีเอ” เพื่อชี้ช่องทางการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ และการทำการตลาดต่างประเทศ โดยกรมฯ ได้นำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าการตลาดมาติวเข้มวิเคราะห์สินค้าและแนะนำตลาดส่งออกที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งได้รับผลตอบรับดีจากกลุ่มเกษตรกรภาคใต้กว่า 150 คน และยังมีเกษตรกรที่ได้นำสินค้ามาวิเคราะห์และร่วมจำหน่ายอย่างคึกคัก เช่น ผ้าใยสับปะรด ผ้าย้อมใยกล้วย มะม่วงเบาแปรรูป ลูกหยีแปรรูป โดยกรมฯ เชื่อมั่นว่าการจัดงานจะช่วยให้เกษตรกรเห็นช่องทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอในการทำการค้าระหว่างประเทศต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น