xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยใช้สิทธิ FTA-GSP ส่งออก 5 เดือนทะลุ 3 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 2.76%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมการค้าต่างประเทศเผยการใช้สิทธิ FTA และ GSP 5 เดือนปี 62 มีมูลค่า 30,668.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.76% โดยอาเซียนนำโด่งใช้สิทธิ FTA สูงสุด ส่วนสหรัฐฯ อันดับหนึ่งใช้สิทธิ GSP เตรียมผลักดันให้มีการใช้สิทธิเพิ่มขึ้น หลังมีปัจจัยเสี่ยง ทั้งจากสงครามการค้า เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว บาทแข็ง แนะผู้ส่งออกใช้สิทธิ FTA ขยายตลาดจีน ดันสินค้าไทยขายแทนสหรัฐฯ

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2562 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่าการใช้สิทธิรวม 30,668.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.76% มีอัตราการใช้สิทธิ 79.23% ของการได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด แยกเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA จำนวน 12 ฉบับ (ไม่รวมความตกลงอาเซียน-ฮ่องกง) คิดเป็นมูลค่า 28,503.61 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.75% คิดเป็น 80.40% ของมูลค่าการส่งออกรวมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง และการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP จำนวน 4 ระบบ ประกอบด้วย สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ (ญี่ปุ่นตัดสิทธิการให้ GSP ไทยตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2562) มีมูลค่า 2,165.25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.25% มีอัตราการใช้สิทธิ 66.43% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP

ในด้านการใช้สิทธิ FTA ส่งออก พบว่าตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. อาเซียน มูลค่า 10,284.62 ล้านเหรียญสหรัฐ 2. จีน มูลค่า 7,947.08 ล้านเหรียญสหรัฐ 3. ออสเตรเลีย มูลค่า 3,473.94 ล้านเหรียญสหรัฐ 4. ญี่ปุ่น มูลค่า 3,238.11 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5. อินเดีย มูลค่า 1,956.82 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเปรู เป็นตลาดที่มีการขยายตัวสูงสุด 43.53% รองลงมา คือ จีน เพิ่ม 12.73% และนิวซีแลนด์ เพิ่ม 9.44% ส่วนสินค้าที่ใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด น้ำตาลจากอ้อย และผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง

ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP พบว่าสหรัฐฯ ยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือประมาณ 92% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด มีมูลค่า 1,987.73 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.86% มีอัตราการใช้สิทธิ 74.85% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง เครื่องดื่มอื่นๆ เลนส์แว่นตา และแว่นตาอื่นๆ

นายอดุลย์กล่าวว่า การใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 5 เดือนที่มีมูลค่ารวม 30,668.86 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 37.85% ของเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่ตั้งไว้ที่ 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% โดยต้องจับตาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก เช่น ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว รวมถึงค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่ามากขึ้น เพราะปัจจัยเหล่านี้อาจจะส่งผลต่อเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในปี 2562 แต่กรมฯ จะเดินหน้าผลักดันการใช้สิทธิอย่างเต็มที่ ทั้งกรอบ FTA และ GSP

สำหรับตลาดที่กรมฯ มองว่ามีโอกาสสูง คือ จีน ที่ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯ ได้ โดยปัจจุบันมีการขอใช้สิทธิภายใต้ FTA อาเซียน-จีน มูลค่า 7,947.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.73% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิสูงถึง 98.73% ของมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิ มีสินค้าที่ใช้สิทธิสูงสุด คือ กลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผลไม้ ได้แก่ ทุเรียนสด มังคุดและมะม่วง ลำไย และมะพร้าว (ทั้งกะลา) และยังมีสินค้าเกษตรอื่น เช่น เนื้อและเครื่องในไก่แช่แข็ง และกุ้งแช่แข็ง ตามลำดับ

ส่วนกรณีการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นจนกระทบต่ออุตสาหกรรมภายใน กรมฯ มี พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ที่จะใช้ดูแล โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นคำร้องขอให้กรมฯ พิจารณาใช้มาตรการได้ รวมทั้งได้เฝ้าระวังและติดตามการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย โดยมีการหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการออก C/O ทั่วไป พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำระบบเตือนภัยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น