xs
xsm
sm
md
lg

จัดระบบน้ำฝายบ้านพร้าว หมุดหมายพื้นที่การเกษตรพัทลุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฝายบ้านพร้าว อ.ป่าพยอม จ.พัทลุง รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำป่าพยอม ความจุกว่า 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งกระจายน้ำครอบคลุมพื้นที่ 35,700 ไร่

ว่ากันว่าพื้นที่จัดระบบน้ำสวยงามนัก

พื้นที่ฝายบ้านพร้าว เดิมทีหน่วยปฏิบัติการคันคูน้ำ กรมชลประทาน เคยเข้ามาสร้างคันคูดินเมื่อกว่า 20 ปีก่อน แล้วค่อยๆ เสื่อมโทรมลง เมื่อโอนภารกิจเข้ามาอยู่ร่วมกับงานจัดรูปที่ดินตาม พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558 พื้นที่โครงการฝายบ้านพร้าวจึงอยู่ภายใต้สำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำที่ 33 กรมชลประทาน แต่นั้นมา

“เราเริ่มเข้ามาจัดระบบน้ำตั้งแต่ปี 2560 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน15.83 กิโลเมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 2,150 ไร่ ตามแผนจะขยายให้เต็มโครงการ 35,700 ไร่” นายพัสกร ประเทพ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 33 กล่าว

องค์ประกอบสำคัญของพื้นที่จัดระบบน้ำคือคูน้ำ และเส้นทางลำเลียง

การวางแผนชั้นต้นคือเป็นคูน้ำดาดคอนกรีต และเส้นทางลำเลียงชั่วคราว

“กลุ่มผู้ใช้น้ำที่นี่แข็งแรง และมีกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ มีคณะกรรมการจัดระบบน้ำชุมชนซึ่งมีมติขอให้เปลี่ยนจากคูดาดคอนกรีตเป็นคูคอนกรีตเสริมเหล็กที่แข็งแรงกว่า และขอเส้นทางลำเลียงที่ได้มาตรฐาน กว้าง 3.5 เมตร เป็นจุดเริ่มต้นของรูปแบบที่สวยงาม”

นายพัสกรกล่าวว่า พื้นที่ทำนาภาคใต้มีข้อจำกัดตรงที่คูจะอยู่ต่ำกว่าที่นา พอน้ำหลากมาพัดพาตะกอนถมคู และความบอบบางของคูดาดก็ง่ายต่อความเสียหาย โดยขาดงบประมาณซ่อมบำรุง ดังนั้น เมื่อเป็นคูคอนกรีตเสริมเหล็กจะมีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น โดยใช้การหล่อในคูโดยตรงแทนการใช้คอนกรีตสำเร็จรูปขนจากข้างนอกเข้ามาประกอบ

ส่วนเส้นทางลำเลียง เดิมทีใช้เป็นเส้นทางขนย้ายวัสดุและไม่รื้อทิ้ง ปล่อยให้เกษตรกรใช้ชั่วคราวจนกว่าจะทรุดโทรมเอง ก็พัฒนาเป็นเส้นทางลำเลียงมาตรฐาน มีความกว้าง 3.5 เมตร เข้าถึงแปลงได้สะดวก รถบรรทุกขนปัจจัยการผลิตเข้าไป และลำเลียงผลผลิตออกมา โดยที่ พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินฯ พ.ศ. 2558 เปิดช่องให้ทำได้

ที่สำคัญ เกษตรกรเอาด้วยในการยอมเสียพื้นที่นาทำเป็นเส้นทางลำเลียงหรือถนนมาตรฐาน 3.5 เมตร ไม่เช่นนั้นทำไม่ได้หากไม่ได้รับการยินยอม

“เป็นการจัดระบบน้ำก็จริง แต่รูปแบบคล้ายการจัดรูปที่ดินประเภทกึ่งสมบูรณ์แบบ (Extensive Type) มีเส้นทางน้ำและเส้นทางลำเลียงสายหลักคล้ายเส้นเลือดใหญ่ และเส้นทางสายย่อยคล้ายเส้นเลือดฝอย เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายใยแมงมุม” นายพัสกรกล่าว

ความสวยงามของพื้นที่จัดระบบน้ำอาจเป็นสิ่งดึงดูดแรกให้คนสนใจ แต่กรณีของโครงการฝายบ้านพร้าวยังตามมาด้วยความคุ้มค่าหลายประการ

อย่างแรก ความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจที่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ลงมาประเมินผล

อย่างที่สอง ผลผลิตข้าวโดยเฉพาะข้าวสังข์หยด เดิมทีผลผลิตต่อไร่ 400 กิโลกรัม หลังจัดระบบน้ำมีน้ำต้นทุนมั่นคง ผลผลิตเขยิบเป็น 700 กิโลกรัมต่อไร่

อย่างที่สาม ราคาที่ดินขยับสูงขึ้น 10 เท่าตัว จากไร่ละ 30,000 บาท เป็น 300,000 บาท/ไร่

อย่างที่สี่ ภายใต้ความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใช้น้ำและโครงสร้างการจัดระบบน้ำใหม่ ทำให้หน่วยงานจากภายนอกเข้ามาร่วมกิจกรรมในพื้นที่อย่างชัดเจน เช่น ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว จ.พัทลุง เลือกพื้นที่ทำแปลงนำร่องเกษตรแม่นยำสูง ปลูกข้าวพันธุ์น้ำตาลน้อยเป็นโครงการนำร่องของภาคใต้ ปกติกรมการข้าวจะจับมือกับพื้นที่จัดรูปที่ดินภาคกลางเท่านั้นจัดทำแปลงเกษตรแม่นยำสูง

นอกจากนั้น วิทยาลัยภูมิปัญญา มหาวิทยาลัยทักษิณ เข้ามาจัดทำแปลงสาธิตวิจัยข้าว และมูลนิธิอุทกพัฒน์เข้ามาจัดทำแปลงสาธิตการใช้น้ำกับข้าว

เป็นส่วนผสมที่ลงตัวน่าสนใจอย่างยิ่ง มีทั้งการจัดระบบน้ำที่มีประสิทธิภาพ มีทั้งกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง โครงการฝายบ้านพร้าวจึงเป็นหมุดหมาย (Landmark) สำคัญของพื้นที่การเกษตรของพัทลุง


กำลังโหลดความคิดเห็น