xs
xsm
sm
md
lg

ชาวไร่อ้อยลุ้น รมว.อุตฯ คนใหม่ หวังแก้ไข 3 เรื่องเร่งด่วนรับมืออ้อยตกต่ำอีกระลอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชาวไร่อ้อยคาดหวัง รมว.อุตฯ คนใหม่จะเข้ามาเร่งแก้ไขประเด็นเร่งด่วน 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ราคาอ้อยที่คาดว่าจะตกต่ำ 2. กองทุนอ้อยฯ รายได้ตกต่ำ 3. มาตรการตัดอ้อยสดใน 3 ปีอาจกระทบการเพาะปลูกอ้อยในอนาคต

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า สิ่งที่ชาวไร่อ้อยคาดหวังที่จะเห็นรัฐบาลใหม่โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่เข้ามาเร่งแก้ไขอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมี 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ 1. การดูแลราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 62/63 ที่มีแนวโน้มตกต่ำใกล้เคียงกับปีที่แล้ว 2. การปรับโครงสร้างตามแนวทางลอยตัวราคาน้ำตาลที่ระเบียบปฏิบัติขณะนี้มีผลทำให้รายได้กองทุนน้ำตาลทรายลดลงเห็นว่าควรจะต้องปรับปรุง และ 3. การกำหนดมาตรการลดอ้อยไฟไหม้ให้ตัดอ้อยสด 100% ในระยะ 3 ปีที่ชาวไร่กังวลว่าจะกระทบต่อภาพรวมเพราะอาจทำไม่ได้

ทั้งนี้ ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิตปี 2562/63 หากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกยังเคลื่อนไหวในระดับปัจจุบันคาดว่าจะอยู่ระดับไม่เกิน 700 บาทต่อตันซึ่งใกล้เคียงกับฤดูผลิตที่ผ่านมาซึ่งชาวไร่อ้อยไม่คุ้มทุนการผลิต จึงต้องการให้รัฐเข้ามาแก้ไขด้วยการหามาตรการช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อยให้ชาวไร่ได้มีความคุ้มทุนมากขึ้น ส่วนจะเป็นแนวทางใดก็คงอยู่ที่นโยบายรัฐ

ส่วนกรณีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายด้วยคำสั่ง ม.44 ที่ผ่านมาเพื่อป้องกันการฟ้องร้องของบราซิลนั้นส่งผลให้ต้องยกเลิกการจัดสรรโควตาน้ำตาลทรายและกำหนดรายได้การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยน้ำตาลทราย (กท.) จากส่วนต่างราคาหน้าโรงงานกับราคาตลาดโลก (ลอนดอนนัมเบอร์ 5 +ไทยพรีเมียม) ซึ่งราคาตลาดโลกตกต่ำทำให้โรงงานที่ไม่มีการจัดสรรโควตาน้ำตาลมีการแข่งขันด้านราคาจนทำให้รายได้ กท.ลดลงจนทำให้ไม่มีศักยภาพในการนำมาดูแลราคาอ้อยยามตกต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ ดังนั้น สิ่งนี้ควรจะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม
สำหรับมาตรการลดอ้อยไฟไหม้ที่ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบตามแนวทางที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอที่จะทยอยลดปริมาณอ้อยไฟไหม้และกำหนดให้เป็นการตัดอ้อยสดภายในฤดูการผลิตปี 64/65 หรือช่วง 3 ปีจากนี้ไปเพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ต้องยอมรับว่าชาวไร่อ้อยมีความกังวลว่ากรอบระยะเวลาดังกล่าวอาจจะไม่เอื้อให้เกิดขึ้นได้แม้ว่ารัฐพยายามจะสนับสนุนสินเชื่อให้ซื้อเครื่องจักรแต่ก็ยังคงมีราคาแพงและเป็นต้นทุนให้ชาวไร่
" เราเองก็กังวลเรื่องนี้เพราะอาจบีบรัดชาวไร่ เพราะรถตัดอ้อยราคาไม่ได้ถูกแม้ว่ารัฐจะช่วยดูแลอัตราดอกเบี้ยให้ก็ไม่ได้มากอะไร และขณะนี้รถตัดอ้อยมีอยู่เพียง 1,000 กว่าคัน และหากจะตัดอ้อยสด 100% ต้องใช้รถตัดราว 8,000 คัน มันก็ไม่ง่ายสำหรับชาวไร่อ้อยขนาดกลางและเล็ก นอกจากนี้ ปริมาณอ้อย 100 กว่าล้านตันก็ถือว่าเป็นปริมาณมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา การบริหารจัดการคงไม่ง่าย เรื่องนี้คงต้องดู และหากไม่ได้ก็อยากให้ขยายกรอบเวลา ไม่อย่างนั้นอาจกดดันให้อ้อยลดลง" นายนราธิปกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น