xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาฯ เกาะติดผลตัดสินกรณีข้อพิพาทโควตาภาษีข้าวสหรัฐฯ-จีน ชี้เพิ่มโอกาสส่งออกให้ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศติดตามผลหลัง WTO ตัดสินกรณีข้อพิพาทโควตาภาษีข้าวระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ชี้การบริหารโควตาภาษีขัดกับข้อผูกพันที่จีนได้ผูกพันไว้ใน WTO จีนต้องปรับปรุงการบริหารโควตาให้โปร่งใส เป็นธรรม มีเงื่อนไขชัดเจน คาดส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวไทยไปจีนเพิ่มขึ้น แต่ต้องรอดูผลอีกว่าจีนจะอุทธรณ์หรือไม่

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มีการติดตามผลจากการที่องค์การการค้าโลก (WTO) ได้เผยแพร่รายงานคำตัดสินกรณีที่สหรัฐฯ ยื่นฟ้องจีนภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO ว่าการบริหารจัดการโควตาภาษีในสินค้าข้าวสาลี ข้าวเมล็ดสั้น กลาง และยาว และข้าวโพดของจีนขัดกับข้อผูกพันของจีนใน WTO ซึ่งคำตัดสินดังกล่าวส่งผลให้จีนต้องปรับปรุงการบริหารโควตาให้มีความโปร่งใส คาดการณ์ได้ และเป็นธรรมมากขึ้น โดยต้องมีเงื่อนไขและกระบวนการที่ชัดเจน และไม่ขัดขวางการใช้ปริมาณโควตาให้เต็มจำนวน จึงน่าจะเป็นโอกาสของไทยในการขยายการส่งออกข้าวไปจีนเพิ่มขึ้นได้

การตัดสินในกรณีนี้ WTO ระบุว่าจีนมีการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การจัดสรรโควตาที่คลุมเครือ ไม่โปร่งใส โดยขาดการเผยแพร่รายละเอียดและแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งมีการกำหนดเงื่อนไขที่ขัดกับหลักการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เช่น การกำหนดให้ผู้ที่นำเข้าข้าวสาลีและข้าวโพดภายใต้โควตาจะต้องผลิตในโรงงานของตนเองเท่านั้น และการไม่อธิบายรายละเอียดในการแบ่งปริมาณโควตาสำหรับเอกชนและรัฐวิสาหกิจ และที่ผ่านมา China National Cereals, Oils and Foodstuffs Corporation (COFCO) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดสรรโควตายังไม่คืนโควตาที่ไม่ได้ใช้ ซึ่งเป็นการปิดโอกาสไม่ให้เอกชนได้รับการจัดสรรโควตาในส่วนนั้น

“คำตัดสินของ WTO เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญ ซึ่งกรมฯ จะติดตามความคืบหน้ากรณีพิพาทนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากกระบวนการระงับข้อพิพาทใน WTO ยังเปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์ได้ ซึ่งหากจีนอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าว ก็อาจใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี หรือมากกว่านั้นจึงจะทราบผลการตัดสินขั้นสุดท้าย ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์จำนวน 6 ใน 7 ตำแหน่งที่จะว่างลงในปีนี้ด้วย เนื่องจากจนถึงขณะนี้สมาชิก WTO ยังไม่สามารถเริ่มกระบวนการคัดเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ในตำแหน่งที่ว่างลงได้ เพราะมีการเชื่อมโยงกระบวนการคัดเลือกกับการหารือเพื่อปฏิรูปองค์กร WTO ในภาพรวม” นายอรมนกล่าว

ทั้งนี้ จีนกำหนดโควตาภาษี โดยมีปริมาณโควตาปีละ 5.32 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวเมล็ดสั้นและเมล็ดกลาง 7 รายการ 2.66 ล้านตัน และข้าวเมล็ดยาว 7 รายการ 2.66 ล้านตัน อัตราภาษีสำหรับสินค้าที่นำเข้าภายใต้โควตาอยู่ที่ 1% และ 9% สำหรับปริมาณนำเข้าที่เกินโควตาจะเสียภาษีในอัตรา 65%

ในปี 2561 ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก รองจากอินเดีย โดยไทยส่งออกข้าวสู่ตลาดโลกในปริมาณกว่า 11,089 ล้านตัน เป็นมูลค่า 5,619.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.34% คิดเป็นสัดส่วน 2.02% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยมีตลาดส่งออกหลัก เช่น อาเซียน เบนิน และจีน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น