xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยเอฟทีเอดันส่งออกผลไม้ไปจีนพุ่ง ทุเรียนคว้าแชมป์ ตามด้วยมังคุด ลำไย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยเอฟทีเอหนุนส่งออกผลไม้ไทยไปจีนพุ่ง ยอด 4 เดือนทำได้มูลค่า 668 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 152.7% ทุเรียนนำโด่ง ตามด้วยมังคุด ลำไย และทุเรียนแช่เย็นแช่แข็ง แนะเกษตรกร ผู้ส่งออก คุมเข้มมาตรฐาน เพื่อให้ผลไม้ไทยยังคงเป็นที่ต้องการ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติการส่งออกผลไม้ของไทยไปจีนในช่วง 4 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-เม.ย.) พบว่ามีมูลค่าถึง 668.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 152.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยผลไม้ที่ไทยส่งออกไปจีนมากที่สุด คือ ทุเรียนสด มูลค่า 318.61 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ มังคุดสด ลำไยสด และทุเรียนแช่เย็นแช่แข็ง ส่วนปี 2561 ทั้งปีจีนนำเข้าผลไม้จากไทยเป็นอันดับ 1 มีมูลค่า 2,021 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ ชิลี และเวียดนาม ซึ่งทุเรียนสดเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนมากที่สุด มูลค่า 418 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 41.5% ของการส่งออกสินค้าผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งที่ไทยส่งออกไปจีน รองลงมาคือ ลำไยสด ลำไยแห้ง และมังคุดสด

“การที่ไทยส่งออกผลไม้ไปจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้รับผลบวกจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ซึ่งจีนยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้จากไทยทุกรายการ จากเดิมที่เก็บภาษีอยู่ที่ 10-30% ช่วยให้ผลไม้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดจีนได้” นางอรมนกล่าว

ส่วนความตกลงเอฟทีเอที่ไทยทำกับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง ในส่วนของอาเซียน มี 5 ประเทศได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าผลไม้จากไทยแล้ว เหลือ สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย ที่ยังเก็บภาษีผลไม้บางประเภทที่อัตรา 5% และประเทศอื่นอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกภาษีนำเข้าแล้ว แต่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ยังมีการเก็บภาษีผลไม้บางประเภทอยู่

ทั้งนี้ ในปัจจุบันผู้บริโภคจีนเน้นเรื่องความปลอดภัยด้านสุขภาพมากขึ้น และหน่วยงานของจีนก็ให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบสารพิษตกค้างในผลไม้ ตลอดจนมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) มากขึ้น กรมฯ ขอให้เกษตรกรและผู้ส่งออกไทยให้ความสำคัญต่อการรักษาคุณภาพมาตรฐานในการเพาะปลูกและการผลิตสินค้าผลไม้สดและแปรรูปให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้ผลไม้ไทยเป็นที่ต้องการ และรักษาส่วนแบ่งในตลาดจีนได้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น