xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานเผยเวที “SOME” เล็งเพิ่มเป้าประสิทธิภาพใช้พลังงานอาเซียน-เพิ่มซื้อไฟ 3 ประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




กระทรวงพลังงานเตรียมพร้อมการประชุม SOME ครั้งที่ 37 ระหว่าง 24-28 มิ.ย.นี้ ไทยเป็นเจ้าภาพเตรียมหารือเพื่อเสนอปรับเป้าหมายการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศอาเซียนใหม่ในปี 2563 เป็น 30% หลังทำเกินเป้าเดิมแล้วพร้อมเข้มข้นการผลักดันใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้นก่อนเสนอเวที AMEN 4-5 ก.ย. พร้อมเล็งลงนามขยายกรอบซื้อไฟไทย-ลาว-มาเลเซีย



นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมพร้อมสำหรับการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงานและการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือ SOME ครั้งที่ 37 ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 24-28 มิถุนายน 2562 นี้โดยมีไทยเป็นเจ้าภาพ ภายใต้แนวคิดหลัก “Advancing Energy Transition through Partnership and Innovation” หรือ “ก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งและนวัตกรรมแห่งอนาคต”โดยจะมีการหารือเพื่อจัดเตรียมประเด็นเนื้อหาทั้งเชิงนโยบายที่สำคัญในระดับภูมิภาค รวมถึงแนวทางการพัฒนากิจกรรมความร่วมมือด้านพลังงานโดยเฉพาะเตรียมเสนอปรับเป้าหมายการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (EEP) ในปี 2563 จากเดิมกำหนดไว้ 20% เป็น 30% และเพิ่มความเข้มงวดในการใช้พลังงานทดแทนจากขณะนี้เฉลี่ยใช้ 13% เพิ่มเป็น 23% ในปี 2563 ตามเป้าหมายที่วางไว้ก่อนที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน(AMEN) ที่จะมีขึ้น 4-5 กันยายน

“SOME เป็นการประชุมระดับปลัด ส่วนของพลังงานมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาเซียนวางไว้ปี 2563 เดิม 20% ขณะนี้เกินแล้วมาอยู่ที่ 21.3% จึงจะเสนอปรับเป้าหมายใหม่ ขณะที่สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนยังคงเป็นไปตามเป้าหมายเดิม แต่จะปรับกิจกรรมต่างๆ ให้เข้มขึ้น ขณะเดียวกันยังจะหารือการขยายกรอบการรับซื้อไฟฟ้าลาว-ไทย-มาเลเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการลงนามซื้อขายไปแล้ว 100 เมกะวัตต์ โดยเตรียมที่จะเสนอเวที AMEN เพื่อลงนามขยายกรอบการซื้อไฟระหว่าง 3 ประเทศเป็น 300 เมกะวัตต์” นายกุลิศกล่าว

สำหรับการรายงานประเด็นด้านพลังงานที่ประเทศไทยให้ความสำคัญและเป็นผู้นำในการผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในปี 2562 (Priority Deliverables) จำนวน 4 ด้าน 9 ประเด็น ได้แก่ ด้านไฟฟ้า อาทิ การจัดทำรายงานศึกษาความเป็นไปได้เรื่องการซื้อ-ขายไฟฟ้าพหุภาคีในอาเซียนให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น และการจัดทำข้อเสนอแนะด้านการส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในโครงข่ายอาเซียน (RE Integration to grid) ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นผู้นำผลักดันให้เกิดโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียนที่สามารถเชื่อมโยงการซื้อขายไฟฟ้าได้ครอบคลุมภูมิภาคอาเซียน ฯลฯ

ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ประกอบด้วย การจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็นในตลาดอาเซียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ฯลฯ ด้านพลังงานทดแทนประกอบด้วย การลงนาม MOU ระหว่าง ศูนย์พลังงานอาเซียน และสถาบันพันธมิตรของอาเซียนเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวภาพอาเซียน ด้านก๊าซธรรมชาติ อาทิ การจัดทำข้อเสนอแนะ เรื่อง การศึกษาโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กเพื่อรองรับก๊าซธรรมชาติ (Small-scale LNG) ภายใต้ผลการศึกษา Gas Advocacy White Paper

สำหรับการประชุมครั้งนี้มีประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีประเทศคู่เจรจาที่สำคัญกับอาเซียน เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย และสหรัฐฯ กลุ่มประเทศความร่วมมือในระดับพหุภาคี ได้แก่ อาเซียนบวกสาม และอาเซียนบวกแปด รวมทั้ง องค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) เป็นต้น

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ กองการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การซื้อขายไฟฟ้าใน โครงการซื้อขายไฟฟ้า สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย ที่ลงนามความร่วมมือครั้งแรกเมื่อปี 2560-2561 จำนวน 100 เมกะวัตต์นั้น เกิดการซื้อขายไฟฟ้าจริงเพียงกว่า 50% เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของมาเลเซียไม่สูงมากนัก แต่หลังจากมาเลเซียจัดทำแผนการใช้ไฟฟ้าใหม่จึงมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นจึงเห็นด้วยกับการขยายกรอบการซื้อขายไฟฟ้าเป็น 300 เมกะวัตต์


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทั้ง 3 ประเทศอยู่ระหว่างการเจรจาตกลงด้านราคาไฟฟ้าระหว่างกันใหม่ เนื่องจากปริมาณการซื้อไฟฟ้าสูงขึ้นดังนั้นราคาค่าไฟฟ้าอาจจะน่าสนใจมากขึ้นด้วย โดยราคาซื้อขายไฟฟ้าจะยึดตามเกณฑ์ราคาที่ไทยซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว และราคาที่ไทยซื้อจากมาเลเซียเป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น