xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์น้ำในพื้นที่ EEC ตัวเลขขับเคลื่อนต้องแม่นยำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.ฉะเชิงเทรา

จากข้อมูลของสํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า นอกจากพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 3 จังหวัดจะมีแผนพัฒนาการลงทุนหลากหลาย เช่น รถไฟความเร็วสูง เมืองการบินอู่ตะเภา ท่าเรือ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม 21 เขต การส่งเสริมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเดิม และการเกษตรกรรม รวมถึงคาดการณ์ว่าจะมีจํานวนประชากรเพิ่มจากปัจจุบัน 3 ล้านคน เป็น 6 ล้านคนในปี 2580 แล้ว

ระบบสาธารณูปโภค เช่น “น้ำ” ที่จําเป็นต้องเตรียมความพร้อม สํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนาธิการด้านน้ำของรัฐบาล จึงต้องเข้ามามีบทบาทในการพิจารณากําหนดแนวทาง รวมถึงกํากับ ติดตาม จัดหาแหล่งน้ำและจัดสรรนํ้าในทุกกิจกรรมให้สมดุลกับการเจริญเติบโตในพื้นที่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการป้องกันนํ้าท่วมในพื้นที่สําคัญของอีอีซีด้วย

“จากปัจจัยข้างต้น ลําดับแรกเลยต้องวิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำในพื้นที่โดยละเอียด ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงพื้นที่ย่อยให้ทราบถึงจุดที่ต้องการใช้น้ำอย่างแท้จริง” ดร.สมเกียรติ ประจําวงษ์ เลขาธิการ สทนช.กล่าว

กิจกรรมการใช้น้ำที่ต้องวิเคราะห์ความต้องการ ประกอบด้วย น้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อภาคการผลิต ไม่ว่าภาคเกษตรกรรมหรือภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ และผลักดันน้ำเค็ม กรอบเวลากําหนดไว้ 20 ปี โดยใช้ พ.ศ. 2560 เป็นปีฐาน ระยะต่อไปเป็นปี 2570 และ 2580 ตามลําดับ ผลการวิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC ทุกกิจกรรมปี 2560 จํานวน 2,404.91 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 2,777.68 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2570 และ 2,977.55 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2580 ในช่วง 10 ปีแรก (พ.ศ. 2570) ความต้องการใช้น้ำในทุกกิจกรรมเพิ่มขึ้นจากปีฐาน 372.77 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 10 ปีที่สอง (พ.ศ. 2580) เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 ปีแรก 199.87 ล้านลูกบาศก์เมตร

“รวมความแล้ว ความต้องการใช้น้ำเพิ่มจากปี 2560 จํานวน 572.64 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อโจทย์ความต้องการใช้น้ำชัด ที่เหลือเป็นการค้นหาปริมาณน้ำที่อยู่ในมือ และที่ต้องจัดหาเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ
นั่นเอง”

สทนช.วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำและจัดหาน้ำด้วย 7 มาตรการ ได้แก่ 1. ปรับปรุงเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิม 2. พัฒนาอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่ EEC และนอก EEC 3. พัฒนาระบบผันน้ำเชื่อมโยงแหล่งน้ำ 4. พัฒนาแหล่งน้ำสํารองภาคเอกชน 5. พัฒนาน้ำบาดาลสําหรับภาคอุตสาหกรรมและเสริมในพื้นที่ขาดแคลน 6. ใช้เทคโนโลยีใหม่ อาทิ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล และนําน้ำเสียที่ผ่านการบําบัดมาใช้ประโยชน์ 7. การจัดการด้าน Demand Side ได้แก่ การเสริมประสิทธิภาพการใช้น้ำ การลดน้ำสูญเสีย การปรับระบบการเพาะปลูกให้เหมาะสม “มาตรการเหล่านี้ บางอย่างทําอยู่แล้ว บางอย่างกําลังวางแผนดําเนินการ โดยใช้ปี 2580 เป็นเป้าหมายสุดท้ายที่จะขับเคลื่อนไปให้ถึง” ดร.สมเกียรติย้ำ

มาตรการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิมที่ได้ลงมือไปแล้ว ได้แก่ การเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่าง เก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล หรือที่กําลังดําเนินการคืออ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร เป็นต้น ส่วนการเพิ่มอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ EEC กระทำได้ค่อนข้างจํากัด ดังนั้น จึงมุ่งไปที่การพัฒนาแหล่งน้ำนอกพื้นที่ EEC โดยเฉพาะลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี ซึ่งดําเนินการทยอยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ คลองประแกด ความจุ 60.26 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างฯ คลองพวาใหญ่ ความจุ 68.10 ล้านลูกบาศก์ เมตร อ่างฯ คลองหางแมว 80 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างฯ คลองวังโตนด 99.50 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมความจุ 308 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำส่วนเกินจากลุ่มน้ำวังโตนดในฤดูฝน เดิมคาดว่าผันมาเก็บกักที่อ่างฯ ประแสร์ได้ 60-70 ล้าน ลูกบาศก์เมตร/ปี เพื่อผันต่อไปพื้นที่ EEC โดยระบบท่อ

แต่จากการวิเคราะห์สมดุลน้ำพบว่า ผันได้เฉลี่ย 56 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปีเท่านั้น เช่นเดียวกับระบบผันน้ำในพื้นที่ EEC ในปัจจุบัน ได้แก่ ระบบท่อผันน้ําคลองพระองค์ไชยานุชิต-อ่างฯ บางพระ ศักยภาพ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ระบบท่อผันน้ำแม่น้ำบางปะกง-อ่างฯ บางพระ 50 ล้าน ลูกบาศก์เมตร/ปี ระบบท่อผันน้ำอ่างฯ ประแสร์-อ่างฯ หนองปลาไหล 70 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ระบบท่อผัน น้ำอ่างฯ ประแสร์-อ่างฯ คลองใหญ่ 80 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ระบบท่อผันน้ำอ่างฯ ดอกกราย-อ่างฯ หนอง ปลาไหล 40 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ระบบท่อผันน้ำอ่างฯ คลองใหญ่-อ่างฯ หนองปลาไหล 20 ล้านลูกบาศก์ เมตรต่อปี

รวมแล้วการผันน้ำทั้งระบบเท่ากับ 330 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี แต่จากการวิเคราะห์สมดุลน้ำพบว่า สามารถผันได้จริงเฉลี่ย 254 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปีเท่านั้น ซึ่งยังมีอีกหลายโครงการที่เป็นโครงการผันน้ำจากนอกพื้นที่ โดยกรมชลประทานได้วางโครงการผันน้ำภายในปี 2570 อาทิ ระบบท่อผันน้ำอ่างฯ ประแสร์-อ่างฯ หนองค้อ-อ่างฯ บางพระ 80 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เป็นต้น

“ข้อที่สําคัญ ทุกตัวเลขต้องชัดเจนแม่นยําขึ้น การประมาณการกับการวิเคราะห์สมดุลน้ำ จึงเห็นความ แตกต่างของตัวเลขอย่างมีนัยสําคัญ ทั้งการผันมาจากลุ่มน้ำวังโตนดในอนาคตก็ดี หรือการผันน้ำในพื้นที่ EEC ปัจจุบันก็ดี ทําให้เราต้องหาทางวางแผนเพิ่มปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำอื่น หรือพยายามปรับประสิทธิภาพการใช้น้ำมากขึ้น” ดร.สมเกียรติกล่าว

การเตรียมความพร้อมเรื่องน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC ยังต้องออกแรงขับเคลื่อนต่อไปอีกไม่น้อย แม้จะรู้ทิศทางการพัฒนาและตัวเลขที่ต้องเพิ่มแล้วก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น