xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตช่อง3 ในมือผู้ชาย ชื่อ 'อริยะ พนมยงค์'

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เปิดใจ 'อริยะ' ผู้กุมบังเหียนธุรกิจหมื่นล้าน พร้อมนำพาช่อง3 ฝ่าความท้าทายด้วย 6 กลยุทธ์หลัก หวังต้นปี63 รายได้ช่อง3กลับมาดีขึ้น มาพร้อมความแข็งแกร่งทางธุรกิจสู่การแข่งขันในระยะยาว

นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) หรือช่อง 3 เปิดเผยว่า ธุรกิจทีวีเป็นธุรกิจที่ท้าทายอย่างมากในปัจจุบัน จากการมาของดิจิตอลและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งจากที่ทำการบ้านมา ยังไม่พบว่าธุรกิจทีวีช่องใดในโลก ที่สามารถก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไปได้ ดังนั้นจึงได้ตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับทางช่อง3 จะไม่นึกถึงอุปสรรคมองแต่โอกาสที่จะมุ่งไปข้างหน้าเท่านั้นให้กลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง จะทำให้ช่อง3เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของโลกที่ข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งได้ เพราะเชื่อมั่นว่า พฤติกรรมผู้บริโภคยังคงดูคอนเท้นท์จากทีวี เพียงแต่ช่องทางรับชมเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น และที่ไหนมีผู้ชมเราต้องอยู่ที่นั่น

"ตนอาจจะมีความคิดแตกต่างจากคนทั่วไป ที่เริ่มทำงานจากบริษัทไทยและไปอินเตอร์ แต่ตนเริ่มจากบริษัทอินเตอร์ และกลับมาทำงานกับบริษัทไทย เนื่องจากที่ผ่านมาคลุกคลีอยู่ในวงการสื่อ แม้จะทำงานกับกูเกิ้ลที่แรก และไลน์ทีวี ได้เห็นถึงข้อเท็จจริงในเรื่องของคอนเท้นท์ จึงอยากจะช่วยให้บริษัทไทยได้ข้ามผ่านจุดนี้ไปให้ได้"

ความได้เปรียบของช่อง3 ที่มีอยู่
นายอริยะ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ทีวีในปัจจุบันเป็นเหมือนกันหมด คือ การแข่งขันสูง เรตติ้งลดลง รายได้ลดลง ส่วนสำคัญเกิดจากภาพรวมของตลาดโฆษณาลดลงทุกปี อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก กำลังซื้อจึงลดลงตาม ส่งผลให้สินค้าต่างๆตัดงบโฆษณาตามไปด้วย ส่งผลให้สื่อทีวีรวมมีรายได้ลดลง เพราะสินค้าต่างเลือกใช้ใช้สื่ออนไลน์แทนแต่ไม่ทั้งหมด แต่จะนำไปใช้กับโปรโมชั่น และกิจกรรมอีเว้นท์ทางการตลาดแทน

ช่อง3 เป็นอีก1ช่องที่ตกอยู่ในสถานการณ์นี้ ดังนั้นถ้ามัวแต่พึ่งพารายได้จากโฆษณาเพียงอย่างเดียว ในระยะสั้นอาจจะอยู่ได้ แต่ในระยะยาวอาจจะลำบากกว่านี้ เพราะถึงแม้จะมีการคืนช่องไป 7 ช่อง แต่ตำแหน่งท็อปเท็นไม่ได้เปลี่ยนแปลง หมายความว่า ช่องที่หายไปคือช่องที่มีเรตติ้ง ฐานผู้ชมเพียงน้อยนิด แต่จำนวนผู้เล่นที่เหลือยังคงเป็นรายหลักๆ ดังนั้น หลังจากนี้ย่อมหมายถึงการแข่งขันที่หนักขึ้น

ดังนั้นช่อง3 จึงตัดสินใจคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล(ไลเซ่นส์) 2 ช่อง คือช่อง 3 วาไรตี้ความคมชัดปกติหรือ 3 เอสดี 28 และช่องเด็กและครอบครัวหรือ 13 แฟมิลี่ เพื่อที่ต้องการจะกลับมาโฟกัสที่ช่อง3 ให้มีความแข็งแกร่ง และเน้นธุรกิจใหม่เป็นอนาคตในระยะยาวแทน ซึ่งจะทำให้ช่อง3มีความเข้มแข็งและกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

"การคืนไลเซ่น 2ช่องของทางช่อง3 เป็นส่วนหนึ่งของแผนที่จะกำหนดทิศทางช่อง3 ในอนาคต ทั้งที่ช่อง3เอสดี28 เป็นช่องที่ติดอันดับ7 มีรายได้และเรตติ้งที่ดี แต่ที่ต้องคืน เพื่อลดภาระต้นทุน และมุ่งให้ช่อง3กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ส่วนคอนเท้นท์จาก2ช่อง กำลังพิจารณาว่าจะคัดเลือกลงช่อง3 ว่าจะเป็นอะไรบ้าง และที่สำคัญในเรื่องของบุคคลากรของช่อง3ที่มีรวมกว่า 1,700 คน และบางส่วนอยู่กับช่อง13และ28นั้น กำลังพิจารณาเรื่องการเลิกจ้างว่าจะไปในทิศทางใด จะปรับลดพนักงานมากน้อยเพียงใด และจะโยกพนักงานมาช่อง3มากแค่ไหน ต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อน เพราะส่งผลถึงกลยุทธ์และแผนธุรกิจหลังจากนี้"

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า คอนเท้นท์ของช่อง3 ยังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค และปัจจุบันช่อง3 มีกลุ่มเป้าหมายหลัก 2กลุ่มใหญ่ คือ 1. อายุ 35ปีขึ้นไป มีสัดส่วน 73% กลุ่มนี้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้น้อย นิยมดูคอนเท้นท์ผ่านมีวีเป็นหลัก 2.อายุ 34ปีลงมา มีสัดส่วนเพียง 25-27% ซึ่งกลุ่มนี้ยังพบว่ากว่า 80% รับชมคอนเท้นท์ช่อง3ผ่านทางออนไลน์ เพราะสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้กว่า 90% ขณะเดียวกันยังเป็นกลุ่มที่ดูคอนเท้นท์ผ่านทีวีอยู่ด้วย ทำให้เกิดพฤติกรรมมัลติสกรีนตามมา

จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้รู้ว่า กลุ่มผู้ชมของช่อง3ไม่ได้หายไป แค่เปลี่ยนจอในการรับชมเท่านั้น และเฉพาะในปี2561ที่ผ่านมา พบว่าฐานผู้ชมบนโลกออนไลน์ของช่อง3 ทุกแพลตฟอร์มรวมกัน มีตัวเลขการรับชมทั้งหมดกว่า 6,000 ล้านวิว เป็นข้อมูลที่เรตติ้งทีวีไม่ได้ทำการจัดเก็บ แต่ยังคงเก็บเฉพาะสื่อทีวีเป็นหลัก ตัวเลขเรตติ้งทีวีจึงลดลง ทั้งที่ความจริงผู้ชมไม่ได้ลดลงเลย

ชู 6 แผนธุรกิจ ส่งช่อง3กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
ความได้เปรียบของช่อง3 ทั้งในเรื่องของคอนเท้นท์ และฐานผู้ชม รวมกับสถานการณ์ทีวีที่กำลังเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการวางแผนทิศทางธุรกิจ แบ่งออกเป็น 6 ข้อ คือ 1.TV+ หรือทีวีพลัส กับการเร่งทำรายได้จากสิ่งที่มีอยู่ในมือ ทั้งจากแพลทฟอร์มทีวี และออนไลน์ ทำให้เกิดรายได้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทางช่อง3, เมลโล ยูทูป และไลน์ทวี เป็นต้น 2.ช่องทางกระจายคอนเท้นท์ ด้วยการมองตัวเองเป็นธุรกิจคอนเท้นท์ จากเดิมที่เป็นเพียงธุรกิจทีวี มุ่งหารายได้ในเรื่อง OTTมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3.IP (Intellectual Property) ทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะคอนเท้นท์ละคร ที่มีกระแสตะต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ทางกลุ่มสินค้าที่สนใจ

4.ศิลปิน จะมีการทำงานร่วมกับศิลปินมากขึ้น ทั้งในแง่ของธุรกิจและบริการใหม่ๆ5.คอนเท้นท์ จากปัจจุบันละครเป็นคอนเท้นท์หลักที่สร้างรายได้ให้ช่อง 3 จากนี้จะโฟกัสกลุ่มอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะข่าว เพราะที่ผ่านมาช่อง3เคยทำได้ จึงรู้ว่าทำได้ที่จะสร้างคอนเท้นท์ข่าวให้กลับมาอยู่ในระดับท็อปอีกครั้ง รวมถึงพัฒนาคอนเทท้นท์ใหม่ๆเพิ่มขึ้น และ6.เทคโนโลยี จะมีบทบาทอย่างมากในระยะยาว กับการสร้างแพลทฟอร์มใหม่ๆเพื่อสร้างรายได้

นายอริยะ กล่าวต่อว่า 6 ทิศทางนี้ไม่ได้จะเกิดขึ้นในปีเดียว แต่ต้องลงทุนและลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ แม้ว่าจะไม่ได้ใช้งบมากมายก็ตาม เพราะส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ช่อง3มีอยู่แล้ว คาดว่าจะเริ่มเห็นผลได้ช่วงต้นปีหน้า ทั้งในเรื่องของรายได้ที่คาดว่าจะกลับมาดีขึ้น ไม่อยู่ในภาวะขาดทุน รวมถึงเห็นถึงตัวเลขกำไรอีกครั้ง

"ทีวียังคงเป็นธุรกิจหลักของช่อง3 ส่วนรายได้ออนไลน์และอื่นๆจากปัจจุบันทำได้เพียง 5%ของรายได้รวม ถึงจุดหนึ่งเชื่อว่าจะขยับเพิ่มเป็น10%หรือมากกว่านั้น" นายอริยะ กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดในเดือนพ.คนี้ ช่อง3 มีมูลค่าบริษัท อยู่ 17,500 ล้านบาท และไตรมาสแรกปีนี้ก็ยัง ขาดทุนอีก 128 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการปี2561 มีรายได้10,375.70 ล้านบาท ขาดทุน 330.20ล้านบาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น