xs
xsm
sm
md
lg

กบง.เบรกอนุมัติผลประมูลนำเข้า LNG กฟผ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กบง.ยังไม่อนุมัติผลประมูลจัดหาแอลเอ็นจีของ กฟผ.1.5 ล้านตันต่อปี สั่งให้ กฟผ.และ ปตท.ทำแผนร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาปริมาณการนำเข้า LNG ของ กฟผ.กระทบต่อสัญญานำเข้าก๊าซฯ ปตท.5.2 ล้านตัน/ปีจนต้อง take or pay โดยชงเรื่องกลับมาภายใน 2 สัปดาห์

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมายังไม่เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี หลังจากที่ กฟผ.ได้รายงานผู้ชนะประมูลจัดหาและนำเข้า LNG ส่งให้ กฟผ. ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้วิเคราะห์ผลการประมูลแล้ว พบว่า ราคานำเข้าก๊าซฯ ของ กฟผ.เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำคัญ ที่กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องเป็นผู้เสนอราคานำเข้า LNG ที่มีส่วนลดสูงสุดเมื่อเทียบกับราคานำเข้าของสัญญาระยะยาวทุกสัญญาที่ประเทศไทย โดยบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาซื้อ-ขาย LNG ไว้รวมปริมาณ 5.2 ล้านตันต่อปี

“กบง.ไม่ได้ติดใจประเด็นราคาก๊าซที่ กฟผ.สามารถประมูลจัดหาฯได้ต่ำกว่าทุกสัญญาที่ ปตท.มีอยู่ แต่ยังเป็นห่วงในส่วนของปริมาณนำเข้าก๊าซฯ 0.8-1.5 ล้านตันต่อปีในปี 2563 ซึ่งหากนำเข้ามาในปริมาณดังกล่าวแล้วเหลือใช้จะทำอย่างไร จะเกิดปัญหาซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ก็ต้องจ่ายเงิน (Take or Pay) หรือไม่ เพราะตรงนี้เป็นต้นทุนสำคัญที่จะสะท้อนผ่านค่าไฟฟ้า”

ดังนั้น กบง.ได้สั่งให้ทั้ง กฟผ.และ ปตท.ไปทบทวนและวางแผนร่วมกันว่า ปริมาณก๊าซฯ ที่ กฟผ.นำเข้าในช่วงปี 2563 จะขัดแย้งกับปริมาณก๊าซตามสัญญาของ ปตท.ที่ต้องนำเข้ามา 5.2 ล้านตันต่อปีหรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อ ปตท.จนเกิดปัญหา Take or Pay รวมทั้งมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะผู้กำกับดูแลตามข้อกำหนดของรัฐบาลที่เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลังและท่อก๊าซของ ปตท.(Third Party Access: TPA) ไปประสานงานในเรื่องนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินงานของ กฟผ.จะไม่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อความมั่นคงด้านพลังงานและการจัดหา LNG ของ ปตท. และให้ส่งเรื่องกลับมาที่ประชุม กบง.ใน 2 สัปดาห์

นายศิริกล่าวว่า ราคาจัดหา LNG ของ กฟผ.ต่ำสุดเป็นเท่าไหร่นั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก่อน แต่ยืนยันว่าจะทำให้ต้องทุนค่าไฟฟ้าตลอดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP 2018) ที่กำหนดอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 3.58 บาทต่อหน่วยถูกลงอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการชนะประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกชของ ปตท.สผ.ที่ทำให้ได้ต้นทุนก๊าซหลักถูกลงส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงได้ 15 สตางค์ต่อหน่วย ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป และโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่รัฐจะรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบในอัตราเพียง 1.68 บาทต่อหน่วย และการรับซื้อไฟฟ้าจากลาวได้วางเงื่อนไขเจรจาต้องอยู่ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าต้องต่ำลงจากปัจจุบัน จะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าของประเทศในอนาคตจะไม่แพงไปกว่าปัจจุบันและต้องมีแนวโน้มถูกลง

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง.ยังมีมติอนุมัติให้ สนพ.จัดรับฟังความคิดเห็นร่างแผนบริหารจัดหาก๊าซธรรมชาติ ปี 2561-2580 (Gas Plan 2018) ให้ครบ 6 ครั้งทั่วทุกภาคของประเทศ หลังความต้องการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในระยะยาวสูงขึ้น แต่กำลังการผลิตก๊าซหลักในอ่าวไทยจะลดลง ทำให้ในปี2580 ไทยต้องนำเข้า LNG เพิ่มขึ้น หรืออยู่ที่ 23 ล้านตันต่อปี ลดลงจากแผนก๊าซฯ เดิม (Gas Plan 2015) กำหนดนำเข้า LNG อยู่ที่ 34 ล้านตันต่อปีในปี 2579 เนื่องจากการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชรอบใหม่ มีเงื่อนไขต้องผลิตก๊าซขั้นต่ำอยู่ที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

รายงานข่าวระบุว่า คณะทำงานฯ ของ กฟผ.ได้คัดเลือกให้บริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ประเทศมาเลเซีย เป็นผู้ชนะการเปิดประมูลจัดหาและนำเข้าLNG ให้กับ กฟผ.ในปริมาณไม่เกิน 0.8-1.5 ล้านตันต่อปี เนื่องจากเสนอราคาต่ำสุด แต่ยังไม่สามารถประกาศรายชื่อผู้ชนะอย่างเป็นทางการได้เพราะต้องรอการอนุมัติจากภาครัฐก่อน



กำลังโหลดความคิดเห็น