xs
xsm
sm
md
lg

15ช่องทีวีดิจิทัลยังหืดขึ้นคอ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน360- เจาะลึกมุมเอเจนซี่ ชี้คืน7ช่องทีวีดิจิทัล ไม่ส่งผลต่องบโฆษณาทีวีรวม แต่อานิสงส์ส่งไปช่องข่าวคนดูเพิ่ม ชี้เหลือ15 ช่องยังมากเกิน ควรอยู่ที่5ช่องกำลังดี มองเกมส์ครึ่งปีหลังแข่งเรื่องคอนเทนต์และแพลทฟอร์มเสริมรายได้

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด เปิดเผยว่า การคืนทีวีดิจิทัลจำนวน 7 ช่อง ไม่ได้ส่งผลต่อภาพรวมงบโฆษณาบนสื่อทีวีว่าจะเพิ่มขึ้น รวมถึงในแง่ผู้ชมที่รวมแล้วทั้ง 7 ช่องมีฐานคนดูรวมเพียง 8% จากฐานคนดูทั้งหมด ก็ไม่ได้ส่งผลบวกกับช่องที่เหลือนัก

เพราะมองในภาพใหญ่ แม้จำนวนช่องจะหายไป1ใน3 แต่ฐานคนดูหายไปไม่ถึง 1ใน10 และส่วนของเม็ดเงินโฆษณาจากทั้ง7ช่อง ยังถือว่าน้อยด้วยมีรวมกันเพียง 120 ล้านบาท/เดือน หรือหายไปเพียง 1,440 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบโฆษณาที่เกิดจาก ทีวีโฮมช้อปปิ้งเป็นหลัก

ทั้งนี้มองว่ากลุ่มผู้ชมจากทั้ง 7 ช่อง อาจจะเลือกกลับไปดูคอนเทนต์จากช่องทุนเดิมของช่องที่หายไป อย่าง กลุ่มเนชั่น Mcot และ BEC รวมถึงอานิสงส์ช่องที่จะได้คนดูเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มช่องข่าว อย่าง ไทยรัฐทีวี เป็นต้น รวมถึง กลุ่มคอมวย ที่เป็นฐานเรตติ้งหลักของช่องนาว 26 หลังจากนี้ช่องใดได้ไปคนดูกลุ่มเดิมก็จะไปช่องนั้น

ส่วนในเรื่องของงบโฆษณา มองว่าอาจจะไหลไปที่15ช่องที่เหลือน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นโฆษณาแบบทีวีโฮมช้อปปิ้ง ที่ทุกช่องก็ทำอยู่แล้ว และทิศทางการขายโฆษณาผ่านทีวีโฮมช้อปปิ้งก็ยังโตต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีเหตุการณ์คืนช่องหรือไม่ก็ตาม
เนื่องจากลูกค้ามีทางเลือกในการเลือกใช้สื่อมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะออนไลน์ และการทำมาร์เก็ตติ้งไม่ผ่านสื่อ เช่น การจัดกิจกรรมและส่งเสริมการขาย ลด แลก แจกแถม

อย่างไรก็ตามผลดีของการคืน7ช่องครั้งนี้ ถือว่ามีมากกว่าผลเสีย เช่น จำนวนช่องเหลือน้อยลงทำให้คนดูเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คอนเทนต์ซ้ำซากลดน้อยลง และผู้ชมมีทางเลือกน้อยลง และเจ้าของช่องเองมีภาระต้นทุนลดลง ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งหลังจากนี้มองว่าแต่ละช่องจะเลือกและนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงตามความต้องการของตลาด

โดยเฉพาะ วาไรตี้ ถือว่าเป็นคอนเทนต์ที่จะมาแรงในช่วงครึ่งปีหลัง จากเดิมข่าวและละคร เป็นคอนเทนต์หลักในการแข่งขันและมีเรตติ้งที่ดีอยู่แล้ว ที่สำคัญการมองหาและพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ของตัวเองเพื่อนำมาเสริมและต่อยอดรายได้ของแต่ละช่องจะเห็นภาพชัดขึ้น เพื่อลดการพึ่งพารายได้เสริมจากช่องทางออนไลน์ อย่าง แพลตฟอร์ม ไลน์ และยูทูป ในปัจจุบัน

นายภวัต กล่าวต่อว่า ในมุมมองเอเจนซี่ กับสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทกับผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับโซเชียลไม่ต่ำกว่า 5-6 ชมต่อวัน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขการรับชมทีวีหลายเท่า บวกกับมีแพลตฟอร์มการรับชมคอนเทนต์บนโลกออนไลน์มาเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภค จึงมองว่า แม้เวลานี้จะเหลือทีวีดิจิทัลอยู่ 15 ช่อง ก็ยังถือว่าเป็นจำนวนที่มากอยู่ ในเวลานี้ควรจะอยู่ประมาณ 10 ช่อง กับมูลค่าการใช้งบโฆษณาบนสื่อทีวีราว 50,000-60,000 ล้านบาท ก็น่าจะไปได้แต่ก็ยังลำบากอยู่ ซึ่งในอนาคตอีก3-5ปี มองว่าควรจะมีทีวีดิจิทัลเพียง 4-5 ช่องเท่านั้นจึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะต้องแข่งขันกับแพลตฟอร์มอื่นๆที่จะตามมา

ดังนั้น 15 ช่องที่เหลืออยู่ ยังคงเหนื่อยอยู่ อย่างช่อง7 แม้ว่าจะไม่เคยขาดทุน แต่ก็ต้องปรับตัว ช่อง3เองจาก3ช่องเหลือ1ช่อง มองว่าจะเน้นคอนเทนต์และสร้างแพลทฟอร์มออนไลน์มากขึ้น พีพีทีวีมุ่งวาไรตี้มากขึ้น เป็นต้น ส่วนช่องทีวีดิจิทัลในกลุ่มรองลงมา จะต้องปรับรูปแบบหรือมองหาโมเดลใหม่ๆ ที่ลดการพึ่งพิงรายได้จากโฆษณามากขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้เชื่อว่า สื่อทีวียังเป็นสื่อหลักของการใช้งบโฆษณา แม้ปีก่อนจะอยู่ที่ 54% ขณะที่4เดือนปี2562นี้ติดลบไปประมาณ 1-2% จาก 15,723 ล้านบาท เหลือ 14,667 ล้านบาท แต่ทั้งปี2562นี้มองว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หรือน่าจะทำได้ถึง 48,000 ล้านบาท จาก 47,785 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา โดยครึ่งปีหลังนี้กลุ่มสินค้าหลักที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ยานยนต์ เครื่องดื่ม และการสื่อสาร.


กำลังโหลดความคิดเห็น