xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการรับมือภัยแล้งจากอุณหภูมิเดือด เก็บน้ำเพิ่ม-เคร่งครัดการใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อุณหภูมิในประเทศไทยในปี 2562 หลายพื้นที่ทะลุ 40 องศา โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ส่งผลกระทบหลายด้าน เฉพาะน้ำในอ่างเก็บน้ำ ฐานที่มั่นที่แข็งแรงที่สุดที่มีอยู่

“อัตราการระเหยและซึมลงดินสูงมาก ในช่วง 20 วันของเดือนเมษายนปริมาณน้ำในเขื่อนหายไป 400 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉลี่ยวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นเรื่องที่น่ากังวล” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว

20 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน เพียงแค่ 5 วันสูญเสียปริมาณน้ำ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับความจุของอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ฯ ที่ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ที่กำลังก่อสร้าง 1 เขื่อน หรือถ้าทอดระยะเวลาเป็น 50 วันปริมาณน้ำสูญเสีย 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่าความจุของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 1 เขื่อนเลยทีเดียว

ถือเป็นภัยแล้งประการหนึ่ง เพราะได้ทำลายความมั่นคงของน้ำส่งผลกระทบต่อประชาชน ทั้งในการอุปโภคบริโภค จนไปถึงการเกษตรกรรมทำกิน

“เขื่อนขนาดกลางมีผลกระทบมากที่สุด ในภาคอีสาน เขื่อนขนาดกลางกว่า 100 เขื่อนมีน้ำเหลือไม่ถึง 30%”

ปัญหาการสูญเสียน้ำจากการระเหยอันเกิดจากอุณหภูมิสูง มีทางออกอย่างไร?

เลขาธิการ สทนช.ตอบว่า เมื่อไม่สามารถควบคุมธรรมชาติคือสภาพอากาศได้ ต้องหันไปควบคุมตัวเองใน 2 เรื่องหลัก
อย่างแรก เพิ่มปริมาณเก็บกักในเขื่อนก่อนสิ้นฤดูฝนให้มากขึ้น เป็นการเผื่อหรือชดเชยความสูญเสียจากสภาพอากาศร้อนมากๆ ดังเช่นปีนี้ การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนจึงต้องเพิ่มรายละเอียดมากขึ้น ปรับปรุงหรือประยุกต์เครื่องไม้เครื่องมือบริหารจัดการน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด

อย่างที่สอง การประหยัดน้ำ โดยเฉพาะการใช้น้ำภาคเกษตรกรรมในฤดูแล้ง นอกเหนือจากการจัดสรรน้ำเพียงมาตรการเดียว เพราะในฤดูแล้งนี้ปรากฏว่าในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ใช้น้ำเกินกว่าแผนถึง 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เกิดในพื้นที่ส่งน้ำ 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนฯ


“จำเป็นต้องระบุพื้นที่ได้รับน้ำที่ได้รับการจัดสรรเท่านั้น พ้นจากนั้นเป็นความเสี่ยงของเกษตรกร โดยไม่มีน้ำส่งให้ และระบุค่าชดเชย-ไม่ชดเชยความเสียหายที่ชัดเจน หน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่เพาะปลูกอย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการนี้เข้มข้น ไม่เช่นนั้นจะกระทบถึงพื้นที่ที่จัดสรรน้ำไว้แล้ว และสุดท้ายผลกระทบจะลามถึงปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต้นทุน”

ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต้นทุนอย่างเขื่อนนั้นมีการวางแผนสำรองน้ำสำหรับกรณีฝนมาช้าและฝนทิ้งช่วง เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเกษตรกรทำนากันแล้วและต้องการน้ำหล่อเลี้ยงเป็นอย่างยิ่งในช่วงนั้น ถ้าน้ำหายไปกับการระเหยและการใช้เกินแผน ย่อมกระทบถึงความมั่นคงของน้ำในเขื่อนและการเพาะปลูกต้นฤดูฝนตามมา

การรับมือกับสถานการณ์ความแห้งแล้งในปี 2562 ยังไม่จบสิ้นเพียงแค่สิ้นเดือนเมษายน มีการคาดการณ์ชวนให้ระทึกว่า ฝนอาจมาช้าหรือทิ้งช่วงถึงเดือนกรกฎาคม แน่นอนย่อมเกิดความเดือดร้อนมากกว่าปีก่อนๆ ดร.สมเกียรติกล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 จึงอนุมัติงบกลางปี 2562 เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำและปริมาณน้ำ รวมแล้วไม่น้อยกว่า 28 ล้านลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ 32 จังหวัด 144 โครงการ วงเงิน 1,226 ล้านบาท ประกอบด้วย

1. พื้นที่ประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 5 จังหวัด 34 โครงการ ได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด จ.ศรีสะเกษ จ.นครราชสีมา จ.ตราด และ จ.ชลบุรี

2. พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 13 จังหวัด 51 โครงการ

3. พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรนอกเขตชลประทาน 2 จังหวัด 14 โครงการ

4. พื้นที่แล้งซ้ำซาก และหาน้ำยาก 13 จังหวัด 45 โครงการ

“สทนช.ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้อง 10 หน่วยงาน วิเคราะห์พื้นที่คาดว่าน่าจะขาดแคลนน้ำเพิ่มเติม นอกเหนือจาก 5 จังหวัดที่ประกาศเขตภัยพิบัติไปแล้ว และมี 6 หน่วยงานเสนอโครงการในพื้นที่ประสบปัญหาและทำได้ทันที จึงมีกลุ่มที่ 2-4 เพิ่มเข้ามา”


หลักการของโครงการที่ดำเนินการคือไม่ติดเงื่อนไข เช่น เป็นโครงการขนาดเล็ก ไม่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการที่อยู่ในแผนแต่ขาดงบประมาณ หรือเป็นโครงการในปีงบประมาณ 2563 ที่มีความพร้อมแต่โยกมาทำก่อน โดย 144 โครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ทันทีและต้องแล้วเสร็จภายใน 90 วัน

ทั้งนี้ 7 หน่วยงาน 144 โครงการ ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การประปาส่วนภูมิภาค กองทัพบก ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์

มาตรการนี้จะเห็นความฉับไวในการแก้ปัญหา โดยการใช้หน่วยงาน สทนช.เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการข้อมูล แผนงานโครงการและงบประมาณ อีกทั้งยังมีการตรวจสอบในภายหลังอีก ทำให้โครงการมีเอกภาพมากขึ้น มีเป้าหมายชัดเจน ไม่ทับซ้อน ทำให้การเพิ่มแหล่งน้ำและปริมาณน้ำ 28 ล้านลูกบาศก์เมตรเดินไปสู่ความเป็นจริงได้ชัดเจนยิ่งกว่าในอดีตที่ต่างหน่วยต่างทำ ไม่มีหน่วยงานกลางคอยเฝ้าติดตามตรวจสอบ


เป็นข้อดีของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในการดูแลภาพรวมน้ำของประเทศอย่างจริงจัง


กำลังโหลดความคิดเห็น