xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”เดินหน้าเจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้กรอบ FTA ไทย-ตุรกี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมการค้าต่างประเทศเดินหน้าเจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้กรอบ FTA ไทย-ตุรกี เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยความคืบหน้าผลการเจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-ตุรกี รอบล่าสุด ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมาว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการและแนวปฏิบัติซึ่งเป็นแกนหลักของกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin: ROOs) ไม่ว่าจะเป็นนิยามของการได้มาซึ่งถิ่นกำเนิดสินค้า การสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า กระบวนการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า กระบวนการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง และการปฏิบัติต่อสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่อาจต้องนำเข้าหลายครั้งจึงจะเป็นสินค้าสำเร็จรูปที่สมบูรณ์

ทั้งนี้ ในระหว่างการเจรจา ตุรกียื่นข้อเสนอให้จัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้เงื่อนไขการแปรสภาพอย่างเพียงพอในรูปแบบกฎเฉพาะรายสินค้า กล่าวคือ สินค้าในแต่ละประเภทพิกัดศุลกากรย่อย (HS sub-heading) จะปรากฏหลักเกณฑ์การพิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้ากำกับไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งไทยรับที่จะนำกลับมาพิจารณาก่อนแจ้งท่าทีต่อตุรกีทราบต่อไป

“กรมฯ เห็นว่า กฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules: PSRs) มีข้อดี คือ ชัดเจน และสะดวกต่อการตรวจสอบข้อมูลของผู้ประกอบการ เนื่องจากจะระบุหลักเกณฑ์การได้มาซึ่งถิ่นกำเนิดของสินค้าอย่างชัดเจนและเฉพาะเจาะจงในแต่ละประเภทพิกัดศุลกากรย่อย และการระบุหลักเกณฑ์เฉพาะเจาะจงในสินค้าแต่ละรายประเภทพิกัดศุลกากรย่อยส่งผลให้สามารถกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาถิ่นกำเนิดที่สอดคล้องกับธรรมชาติของสินค้า รวมถึงรูปแบบการผลิตหรือการได้มาของสินค้าแต่ละรายการ แต่การเจรจาจัดทำกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าที่ผ่านมาในอดีตใช้เวลาในการเจรจาค่อนข้างยาวนาน เนื่องจากจะต้องเจรจาหาข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่ใช้สำหรับพิจารณาถิ่นกำเนิดของสินค้าในแต่ละประเภทพิกัดศุลกากรย่อยจำนวน 5,387 ประเภทย่อย ซึ่งความยาวนานและล่าช้าของการเจรจาจัดทำกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการบรรลุข้อตกลงในภาพรวมได้ ซึ่งกรมฯ จะเดินหน้าเจรจาและหาข้อยุติที่เป็นประโยชน์กับไทยให้มากที่สุดต่อไป”นายอดุลย์กล่าว

ปัจจุบัน มูลค่าการค้าระหว่างไทยและตุรกีจะมีมูลค่าเฉลี่ยเพียงปีละ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย สินค้าที่มีศักยภาพของไทยไปตลาดตุรกี ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง และไทยยังสามารถใช้ตุรกีเป็นประตูสู่ตลาดยุโรป จากการที่ตุรกีเป็นสมาชิกภาพของสหภาพศุลกากรยุโรป ส่งผลให้สินค้า (ยกเว้นสินค้าเกษตร) จากตุรกีสามารถเคลื่อนย้ายไปยังสหภาพยุโรปได้โดยปราศจากอุปสรรคทางภาษีศุลกากร


กำลังโหลดความคิดเห็น