xs
xsm
sm
md
lg

BGRIM ทุ่ม 3.8 หมื่นล้าน ผุด 7 โรง SPP จับมือซีพีลุ้นผลิตไฟป้อนในสนามบินอู่ตะเภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บี.กริม เพาเวอร์ ควัก 3.85 หมื่นล้านบาท ลุยสร้างโรงไฟฟ้า SPP 7 โรง คิดเป็นกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ คาดทยอยจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ปี 65-68 เผยกลุ่มบี.กริมจับมือซีพีเข้าประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา หวังผลิตไฟฟ้าป้อนภายในสนามบินฯ หลังคว้าโครงการระบบไฟฟ้าและระบบน้ำเย็นในพื้นที่รอบสนามบินอู่ตะเภา

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BGRIM) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (SPP Cogeneration) จำนวน 7 โรงๆ ละ 140 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 800 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนรวม 3.85 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปีนี้และแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2568 โดยการลงทุนโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ 5 โรง เป็นการก่อสร้างเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้า SPP เดิมที่หมดอายุสัญญาซื้อขายไฟกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 5 โรง กำลังผลิตรวม 565 เมกะวัตต์ และอีก 2 โรงเป็นโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ที่ย้ายการก่อสร้างจากจังหวัดราชบุรีมาอ่างทอง

การสร้างโรงไฟฟ้า SPP ใหม่เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้า SPP เดิมทั้ง 5 โรงนั้น บริษัทฯ มั่นใจมีลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมพร้อมที่จะซื้อไฟอยู่แล้วไม่มีปัญหาการขายไฟฟ้าแม้ว่าสัญญาขายไฟฟ้าใหม่ให้ กฟผ.จะลดลงเหลือโรงละ 30 เมกะวัตต์ จากเดิมเคยมีสัญญาซื้อขายไฟโรงละ 90 เมกะวัตต์ก็ตาม โดยบริษัทจะต้องยื่นรายละเอียดพื้นที่ใหม่ในการก่อสร้างให้กับ กฟผ.ภายในเดือน พ.ค.นี้ และรอรับหนังสือตอบรับการรับซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ.ในปลายเดือน ส.ค.นี้ และจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปี 2565

นางปรียนาถกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ในเวียดนาม 2 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 667 เมกะวัตต์ จะจ่ายไฟเข้าระบบตามกำหนดในเดือน มิ.ย.นี้ รวมทั้งแสวงหาโอกาสการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งเกาหลีใต้ โดยเตรียมประกาศการโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังลมขนาดกำลังผลิต 36 เมกะวัตต์ในเกาหลีใต้เร็วๆ นี้

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังสนใจลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าในมือแล้ว 200 เมกะวัตต์ จากที่มีการเซ็นสัญญาแล้ว 70 เมกะวัตต์ และจ่ายไฟฟ้าแล้ว 6.5 เมกะวัตต์ คาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะจ่ายไฟฟ้าได้ราว 20-25 เมกะวัตต์

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาโครงการระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น พื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าแบบผสมผสานมี 2 ระยะ กำลังผลิตไฟฟ้า 160 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ 70 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงาน 50 เมกะวัตต์ชั่วโมง โดยบริษัทฯ ได้รับสิทธิดำเนินการจากกองทัพเรือ แล้วแต่ยังไม่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA)

นอกจากนี้ กลุ่มบี.กริม ยังได้ร่วมกับพันธมิตรนำทีมโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก หากกลุ่มนี้เป็นผู้ชนะประมูล บริษัทฯ ก็มีโอกาสที่จะได้เข้าพัฒนาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าภายในสนามบินด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น