xs
xsm
sm
md
lg

ค่าโง่ “โฮปเวลล์” บทเรียนราคาแพง! หากรัฐไม่เรียนรู้ การประมูลเมกะโปรเจกต์ สนามบิน ท่าเรือ อาจประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่ศาลปกครอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ข่าวศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกคำร้องให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จ่ายเงินกว่า 12,000 ล้านบาท ให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กลายเป็นข่าวใหญ่ ทอล์กออฟเดอะทาวน์ของประเทศไทยในวันนี้ กับ “ค่าโง่” จากเงินภาษี มูลค่ามหาศาลที่เกิดจากฝีมือของบุคลากรจากภาครัฐ

“ศาลปกครอง” ดูจะเป็นทางเลือกและที่พึ่ง ที่เอกชนสามารถใช้เรียกร้องความเป็นธรรมได้ หากประสบกับอุปสรรคและปัญหาในการทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐ หลายหน่วยงาน จนหาทางออกไม่ได้

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเนื่องจากการดำเนินโครงการหลายโครงการของภาครัฐประสบปัญหาขาดทุน และไม่สามารถบริหารกิจกรรมให้คุ้มค่าทางธุรกิจได้ จนต้องอาศัย จนถึงขั้นไหว้วานให้เอกชนเข้ามาร่วมประมูล แต่ด้วยปัญหาการจัดการ และวิธีการเดิมๆ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐให้เป็นผู้บริหารการประมูล พร้อมทั้งเป็นคู่สัญญาในการรับผิดชอบโครงการ รวมถึงชดใช้ค่าเสียหาย หากเอกชนไม่สามารถทำตามสัญญาได้ ด้วยเงื่อนไขที่บีบรัดเหล่านี้ ทำให้เอกชนที่จะมาทำงานกับภาครัฐจำเป็นต้องตั้งคำถามว่า แล้วตัวเองจะรับผิดชอบโครงการมูลค่าหลักแสนล้านบาทไหวหรือ?

ยกตัวอย่างเช่น วิธีการคัดเลือกและขั้นตอนการประมูล ของโครงการเมกะโปรเจกต์ระดับแสนล้าน เช่น รถไฟความเร็วสูง สนามบิน และท่าเรือ ที่มีผู้เข้าร่วมประมูลระดับโลกสนใจเข้าร่วมด้วย ถ้าหากภาครัฐไม่ทำตามเงื่อนไข เขาก็พร้อมจะฟ้องศาลปกครองเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม

สนามบินอู่ตะเภา ถือเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจกต์ที่ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาเข้าสำนวน “ความเงียบสงบ สยบความเคลื่อนไหว” เพราะไม่มีข่าวใดๆ เล็ดลอดออกมาจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ แต่ยิ่งเงียบยิ่งทำให้สงสัยว่าติดขัดขั้นตอนใด มีอะไรในกอไผ่หรือไม่ จึงยังไม่สามารถประกาศผลการพิจารณาคุณสมบัติได้ จากการรายงานทั้ง 3 กลุ่มที่เข้าร่วมประมูลต่างมีจุดอ่อนจุดแข็งในเรื่องคุณสมบัติ ซึ่งตามเงื่อนไขนั้น ผู้ที่จะมาบริหารสนามบินได้ต้องมีประสบการณ์การบริหารสนามบินขนาดใหญ่มาก่อน จึงถือเป็นโจทย์ยากที่คณะกรรมการพิจารณาต้องรอบคอบ และเริ่มแข่งขันกันเข้มข้นตั้งแต่ซองแรก เพื่อจะไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาในการเจรจาในช่วงหลัง ทำให้งานนี้ต้องจับตากลุ่มบริษัทแต่ละกลุ่มที่มาร่วมประมูล ว่าจะใช้เทคนิคอะไรมาเป็นไม้เด็ดเพื่อกำชัย แต่ที่แน่ๆ ต้องลุ้นให้ทุกกลุ่มผ่านการประเมินคุณสมบัติ ให้มีโอกาสเปิดซองทางการเงิน โดยมองภาพใหญ่ของประเทศ หากสกัดให้ตกรอบก่อนลุ้น ประเทศอาจเสียโอกาสก็เป็นได้ ดังนั้น คณะกรรมการพิจารณาคงต้องยึดมั่นในหลักการและความถูกต้อง รวมถึงผลประโยชน์ของประเทศ เพราะหากไม่เรียนรู้จากบทเรียนราคาแพงอย่างโฮปเวลล์ ภาครัฐเองก็อาจผิดซ้ำรอยเดิมก็เป็นได้

งานนี้ต้องคิดกันดีๆ ว่า ภาครัฐถึงเวลาต้องยกเครื่องปรับระดับมาตรฐานการจัดการประมูลให้ถูกต้องโปร่งใสแล้วหรือยัง มิฉะนั้นศาลปกครองก็คงหัวกะไดไม่แห้งแน่ๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น