xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ดึง “เฟรชชิปโป” เซ็นสัญญา 5 ผู้ประกอบการไทยส่งผลไม้ป้อนขายตลาดจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยเฟรชชิปโป หรือชื่อเดิม เหอหม่า เฟรช ในเครืออาลีบาบา เซ็นสัญญากับผู้ประกอบการไทย 5 รายให้เป็นผู้ส่งออกทุเรียน มะพร้าว ลำไย และมะม่วง ดีเดย์เริ่มทำธุรกิจตั้งแต่ เม.ย.นี้เป็นต้นไป มั่นใจช่วยผลักดันผลไม้ไทยเจาะเข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น ด้านเอกชนหนุนจัดแมตชิ่งเพิ่ม ดึงผู้ซื้อ ผู้นำเข้ามาเจรจาซื้อผลไม้ไทย เชื่อเฟรชชิปโปช่วยเพิ่มยอดส่งออกผลไม้ไทย แนะต้องช่วยสอนวิธีเคาะทุเรียน ป้องกันปัญหาทุเรียนไม่สุก

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ขณะนี้เฟรชชิปโป (Freshippo) หรือชื่อเดิม เหอหม่า เฟรช (Hema Fresh) ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เกตออฟไลน์และออนไลน์ในเครือ Alibaba Group ได้คัดเลือกและเซ็นสัญญากับผู้ประกอบการผลไม้ของไทยจำนวน 5 ราย ให้เป็นผู้ส่งออกทุเรียน มะพร้าว ลำไย และมะม่วงให้กับเฟรชชิปโปอย่างเป็นทางการ และจะเริ่มต้นดำเนินธุรกิจร่วมกันตั้งแต่เดือน เม.ย. 2562 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ผลผลิตผลไม้ไทยที่กำลังออกสู่ตลาดมีตลาดรองรับ และจะทำให้เกษตรกรจำหน่ายผลไม้ได้ในราคาที่สูงขึ้น

“การร่วมมือกับเฟรชชิปโปในการขยายตลาดผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่กรมฯ ได้ทำงานเชิงรุกในการผลักดันผลไม้ไทยเจาะตลาดจีน โดยได้เชิญมาเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการผลไม้ไทยเมื่อช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และประสบผลสำเร็จจนในที่สุดสามารถตกลงทำธุรกิจร่วมกันได้ โดยคาดว่าจะทำให้การส่งออกผลไม้ไทยไปจีนมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเฟรชชิปโปมีแผนที่จะขยายสาขาจาก 100 สาขาเป็น 150 สาขาในปีนี้ และเพิ่มเป็น 2,000 สาขาในปี 2566” น.ส.บรรจงจิตต์กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2561 ที่ผ่านมาไทยส่งออกผลไม้ไปจีนมีมูลค่า 23,152.32 ล้านบาท คิดเป็น 40% ของมูลค่าส่งออกผลไม้ทั้งหมดของไทย ขยายตัว 51.11%

นายไพบูลย์ วงศ์โชติสถิต นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย กล่าวว่า เอกชนเห็นด้วยกับการที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ โดยเชิญผู้ซื้อ ผู้นำเข้า มาเจรจากับผู้ประกอบการไทยเพื่อหาตลาดรองรับผลผลิตเป็นการล่วงหน้า เพราะสามารถช่วยผลักดันและขยายตลาดผลไม้ไทยในต่างประเทศได้ และเห็นว่านอกจากตลาดจีน จะต้องเชิญผู้ซื้อจากประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย ดูไบ และการ์ตา ส่วนญี่ปุ่น เกาหลีใต้เป็นตลาดสำคัญเช่นกันเพราะมีความต้องการผลไม้สูงมาก

ส่วนความร่วมมือกับเฟรชชิปโป มองว่าจะช่วยในการกระจายผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีน เพราะมีช่องทางจำหน่ายทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ โดยสินค้าที่มีโอกาส คือ ทุเรียน มังคุด มะพร้าว แต่ทุเรียนจะต้องให้ความรู้แก่ผู้ซื้อว่าควรบริโภคเมื่อใด เพราะอาจเสียหายได้ ซึ่งการนำไปขายในตลาดออฟไลน์ไม่น่ามีปัญหา เพราะมองเห็นตัวสินค้า แต่การขายออนไลน์ ต้องแนะนำผู้ซื้อที่จะนำไปขายให้ดีว่าทุเรียนจะรับประทานได้เมื่อใด ควรให้ถึงมือลูกค้าแล้วรับประทานได้เลย โดยผู้ประกอบการไทยควรจะร่วมมือกับผู้ประกอบการจีน เช่น การติดสติกเกอร์ระบุวันที่สามารถรับประทานได้ หรือฝึกผู้ที่รับผิดชอบนำไปขายออนไลน์ ให้ดูทุเรียนเป็นว่าจะสุกเมื่อใด บริโภคได้เมื่อใด เมื่อลูกค้าสั่งซื้อแล้วจะได้คำนวณและจัดส่งได้ถูก นอกจากนี้ควรให้ความรู้แก่ผู้ซื้อในเรื่องการเคาะทุเรียน และการปอกทุเรียนด้วย

นายไพบูลย์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การส่งออกผลไม้ มองว่าตลาดยังไปได้ดี ไทยยังส่งออกได้ โดยเฉพาะทุเรียน ลำไย มังคุด ส้มโอ ขนุน มะพร้าวยังเติบโตได้ดี แต่ในอนาคต 3-4 ปีข้างหน้าต้องคำนึงถึงคู่แข่ง เช่น เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเกษตรกร ผู้ประกอบการเองจะต้องเร่งพัฒนา ควบคุมคุณภาพ ผลิตสินค้าตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งจะทำให้ผลไม้ไทยแข่งขันได้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น