xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ย้ำความสะดวกผู้ส่งออกรอไม่ได้ เตรียมพร้อมออกประกาศรองรับการใช้ AWSC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมการค้าต่างประเทศเตรียมออกประกาศรองรับการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (AWSC) หลังอาเซียนเห็นชอบให้รวมโครงการเดิม 2 โครงการเข้าด้วยกัน มั่นใจช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ ลดขั้นตอน เพิ่มความรวดเร็ว ลดค่าใช้จ่าย ทำให้ค้าขายกันในอาเซียนสะดวกมากขึ้น

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (SC-AROO) ครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 11-13 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยที่ประชุมได้ตกลงในการปรับปรุงแก้ไขแนวปฏิบัติ (Operational Certification Procedure : OCP) ของความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA) เพื่อรองรับการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน หรือ ASEAN-Wide Self-Certification (AWSC)

สำหรับการปรับระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ามาเป็นระบบ AWSC เพราะในปัจจุบันอาเซียนมีระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง 2 ฉบับ โดยแต่ละฉบับมีเงื่อนไขรายละเอียดแตกต่างกันในบางกรณี เช่น ผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายผู้ที่มีสิทธิรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง หรือจำนวนรายการสินค้าที่ผู้ประกอบการสามารถรับรองคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองได้ ส่งผลให้การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนยุ่งยาก และซับซ้อน และแต่ละโครงการก็มีสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมไม่เหมือนกัน โดยโครงการที่ 1 มีสมาชิก คือ บรูไน กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า และไทย และโครงการที่ 2 มีสมาชิก คือ อินโดนีเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย อาเซียนจึงให้มีการเจรจาควบรวมระเบียบปฏิบัติโครงการนำร่องที่ 1 และโครงการนำร่องที่ 2 ให้เป็นฉบับเดียวกัน เพื่อลดความยุ่งยากและซับซ้อนของการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมฯ จะเร่งรัดการปรับเปลี่ยนระเบียบปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 โดยได้เตรียมออกประกาศในเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขึ้นทะเบียนเพื่อได้รับสิทธิการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง รวมทั้งข้อความในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า การเก็บรักษาเอกสารที่เกี่ยวข้องหลังจากการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองหากมีการตรวจสอบย้อนหลังจากประเทศผู้นำเข้า ตลอดจนวิธีการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองกรณี Back-to-Back Certificate of Origin และยังมีแผนการปรับปรุงระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการขึ้นทะเบียนและการรายงานการใช้สิทธิฯ ดังกล่าวให้มีความทันสมัย สะดวกต่อการใช้งาน และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติอีกด้วย

"การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนการส่งออก และลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน โดยผู้ประกอบการสามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองลงในเอกสารทางการค้า เช่น Invoice, Packing List, D/O เป็นต้น เพื่อแสดงเอกสารดังกล่าวต่อศุลกากรประเทศผู้นำเข้าในการขอยกเว้นหรือลดภาษีนำเข้าได้เช่นเดียวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form D" นายอดุลย์กล่าว

ปัจจุบันมีผู้ส่งออกไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนในโครงการนำร่องที่ 1 จำนวน 207 ราย และโครงการนำร่องที่ 2 จำนวน 119 ราย รวมทั้งสิ้น 326 ราย มีมูลค่าการส่งออกโดยใช้สิทธิในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองปี 2561 รวมทั้งสิ้น 2,599 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าหลังจากที่เริ่มมีการใช้ ASEAN-Wide Self-Certification (AWSC) ผู้ขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิฯ จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น