xs
xsm
sm
md
lg

1 ใน 2 ของคนไทยน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

1 ใน 2 ของคนไทยน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานและตระหนักถึง แต่การรับรู้ต่อน้ำหนักที่เกินมาตรฐานไม่ได้สะท้อนถึงการรับรู้ด้านสุขภาพเสมอไป

ผู้บริโภคในประเทศไทยเลือกที่จะรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ มากกว่าการออกกำลังกาย และแนวโน้มนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงส 3 ปีที่ผ่านมาข้อมูลจากรายงานที่เผยแพร่ล่าสุดโดยนีลเส็น บริษัทที่ให้บริการด้านการวัดและวิเคราะห์ข้อมูลระดับโลก

รายงานของนีลเส็นเกี่ยวกับสุขภาพและคุณภาพชีวิต (Health and Wellness) ของผู้บริโภคในประเทศไทยได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับความเข้าใจและการรับรู้ของผู้บริโภคชาวไทยต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของพวกเขา รวมถึงพฤติกรรมปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพประกอบด้วยข้อมูลด้าน 1. อาหาร 2. เครื่องดื่ม 3. อาหารเสริม 4. การออกกำลังกาย / กิจกรรม 5. การใช้แอปและแกดเจ็ดออกกำลังกาย

ไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศไทยเนื่องจากผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่กล่าวว่าพวกเขาเข้าร่วมอย่างน้อยหนึ่งในห้ากิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ การรับประทานอาหารเสริม ออกกำลังกาย และใช้แอปหรือแกดเจ็ตต่างๆเพื่อวัดและสังเกตุการณ์การออกกำลังกายในขณะที่ผู้บริโภคมากกว่า 90% กล่าวว่า พวกเขาบริโภคเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอย่างสม่ำเสมอและมากกว่า 80% บริโภคอาหาร/ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพเป็นประจำ เราจะเห็นได้ว่าการบริโภควิตามิน /แร่ธาตุ/อาหารเสริมอื่นๆ รวมถึงการออกกำลังกาย/เล่นกีฬา และการใช้อุปกรณ์ในการวัดการออกกำลังกายนั้นมีอัตราการเข้าร่วมที่ต่ำกว่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอยู่มาก

ข้อมูลเหล่านี้แสดงถึงแนวโน้มด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทยที่เปิดโอกาสให้กับธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพในการเติบโตซึ่งในปัจจุบันนี้ยังมีพื้นที่สำหรับการผลักดันการเข้าถึงและการเพิ่มความถี่ในการใช้งานของผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านสุขภาพอยู่โดยที่ผู้ประกอบการจะต้องมีการมอบความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพและเพิ่มการสื่อสารด้านสุขภาพอย่างละเอียดชัดเจนให้กับผู้บริโภคทุกกลุ่มอายุ


ทั้งนี้ เทรนด์หลักด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทยประกอบด้วย :

ปัจจัยด้านการป้องกันเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญสำหรับทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ


ผู้บริโภคชาวไทยเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านการป้องกันเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นอาหารและเครื่องดื่มหรืออาหารเสริม (ดูตารางที่ 1) อย่างไรก็ตาม อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพยังได้รับแรงผลักดันในการบริโภคจากเหตุผลอื่นเช่นการลดน้ำหนักหรือจากปัญหาด้านสุขภาพที่ผู้บริโภคเป็นอยู่ทำให้ต้องดูแลเป็นพิเศษ เช่นโรคอ้วน เบาหวาน คอเลสเตอรอลสูงหรือความดันโลหิตสูง ซึ่งข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวานประเภท 2 โรคหัวใจและหลอดเลือดและมะเร็ง ได้รับการคาดการณ์ว่าจะก่อให้เกิดการเสียชีวิตคิดเป็น73% ของการเสียชีวิตทั่วโลกในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากค่าประมาณที่ 60% ในปี 2544

อาหารที่เป็นตัวเลือกหลัก คือ ผักใบเขียว และธัญพืช อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและรสชาติที่ดี
เพื่อถามผู้บริโภคชาวไทยถึงสิ่งที่คิดเป็นอย่างแรกเมื่อพูดถึงอาหารและของว่างเพื่อสุขภาพ คนส่วนใหญ่เลือกผัก/สลัด/อาหารคลีน (34%) และธัญพืช/ถั่ว/อาหารที่ใช้ข้าวสาลี (28%) ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกอาหารและขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพนั้นอยู่ที่คุณค่าทางโภชนาการที่สูง นอกจากนั้นก็จะมีเรื่องของรสชาติที่ดีและหาซื้อง่าย (ดูตารางที่ 2) สำหรับเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ คนไทยส่วนมากจะนึกถึง Functional drink และน้ำผัก/ผลไม้ /สมุนไพรเป็นหลัก

โอกาสในการเพิ่มการรับประทานอาหารเสริมของคนไทย


รายงานด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของชาวไทยนี้ยังเผยเหตุผลพื้นฐานในการเลือกรับประทานอาหารเสริม นั่นคือการเติมสารอาหารที่ขาดไปจากการบริโภคอาหารประจำวันและการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ และบางคนรับประทานอาหารเสริมเนื่องจากคาดว่าจะได้รับประโยชน์อื่นๆเพิ่มเติม รายงานยังพบอีกว่าความถี่ในการบริโภคอาหารเสริมจำพวกวิตามินและแร่ธาตุหลัก คือ 12 ครั้งต่อเดือนเป็นอย่างต่ำ โดยที่วิตามินซีแคลเซียมและวิตามินรวม เป็นอาหารเสริมยอดฮิตสามอันดับแรกที่มีการใช้งานสูงสุดและมีความถี่ในการรับประทานสูง ซึ่งอัตราการทานนั้นมีความสอดคล้องกับระดับของการรับรู้ข้อมูล ซึ่งจัดอยู่ในสามอันดับแรกด้วยเช่นเดียวกัน นอกเหนือจากสามอันดับแรกนี้ยังมีโอกาสสำหรับวิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ ที่มีช่องว่างในการเติบโตต่อไปอีกในอนาคต

ข้อมูลจากรายการโทรทัศน์และผู้เชี่ยวชาญครองอันดับแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือสูงสุด


รายการทีวีและข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญเช่นแพทย์/พยาบาลเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือสูงสุด 2 อันดับแรกเวลาที่ผู้บริโภคแสวงหาข้อมูลด้านสุขภาพ ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลด้านสุขภาพจากรายการทีวี เราจะเห็นได้ว่าการการเล่าสู่กันฟัง และโซเชียลมีเดียก็มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากซึ่งบทความบนอินเทอร์เน็ตFacebook และ YouTube ถือได้ว่าเป็นแหล่งข้อมูลยอดนิยมเช่นเดียวกัน (ดูตารางที่ 3) อย่างไรก็ตาม มีเพียง 1 ใน 4 ของผู้ผู้บริโภคเท่านั้นที่ใช้ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์เป็นแหล่งข้อมูล ซึ่งเราเห็นได้ถึงโอกาสสำหรับผู้ผลิตในการเพิ่มtouch-point และการกระตุ้นการรับรู้ของผู้บริโภคจากฉลากผลิตภัณฑ์และเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง

รายงานยังเผยให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยมีความตระหนักค่อนข้างสูงเกี่ยวกับคำศัพท์เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แต่ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับนั้นมีจำกัด ยกตัวอย่างเช่นผู้บริโภคมีความตระหนักในระดับสูงเกี่ยวกับคำว่า 'ส่วนผสมจากธรรมชาติทั้งหมด' 'ไฟเบอร์สูง และหรืออุดมไปด้วยไฟเบอร์' และ 'โปรตีนสูงและ/หรือมีโปรตีน' แต่เพียงแค่หนึ่งในสี่ยอมรับว่า พวกเขามีความรู้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับประโยชน์ของมันแสดงให้เห็นถึงโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่จะเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางที่เหมาะสมและให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ ด้วยการอธิบายที่เข้าใจง่าย และชัดเจน เพื่อสร้างความต้องการของผู้บริโภค

“ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนประชากรผู้สูงวัย, ปัญหาสิ่งแวดล้อม, การขยายตัวของสังคมเมือง หรือการเข้าถึงของอินเทอร์เน็ตและการใช้โทรศัพท์มือถือที่สูงขึ้น เราจะเห็นได้ว่าความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยที่สังคมและโลกออนไลน์นั้นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกผลิตภัณฑ์ของตนมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงข้อเสนอเพื่อสุขภาพ ดังนั้นนอกเหนือจากการติดตามข้อมูลการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ผู้ผลิตจำเป็นต้องหาข้อเสนอที่มีคุณค่าและสำคัญต่อผู้บริโภค รวมถึงเลือกแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสุขภาพซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตในอนาคต” มร.วิราจ จูทานิผู้อำนวยการแผนกวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค (Consumer Insights) บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น