xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกเครื่องประดับ 2 เดือนเพิ่ม 1.41% หลังส่งออกทองคำเพื่อเก็งกำไรราคาเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 2 เดือนปี 62 มีมูลค่า 2,182.39 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 1.41% หลังแห่ส่งออกทองคำพุ่ง 11.84% เพื่อเก็งกำไรจากส่วนต่างราคา และยังได้รับผลบวกจากยอดส่งออกพลอยสีที่เพิ่มขึ้น ด้านตลาดส่งออก จีนมาแรง โต 249.64% ส่วนฮ่องกง ตลาดอันดับ 1 ลด 7.49% สหรัฐฯ ลด 3.76% แนะผู้ส่งออกประกันความเสี่ยงค่าเงินบาท ผลิตสินค้าตรงตามที่ผู้บริโภคต้องการ เพื่อเพิ่มโอกาสส่งออก

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่อประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 2 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่า 2,182.39 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.41% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 69,474.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.91% หากหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 1,372.88 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.87% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 43,701.08 ล้านบาท ลดลง 4.08%

สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในช่วง 2 เดือนกลับมาฟื้นตัวขึ้น มาจากการส่งออกทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 11.84% จากการส่งออกเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของราคา ในจังหวะที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2561 และยังมีการส่งออกเพิ่มขึ้นของพลอยสี 6.97% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของพลอยเนื้อแข็งเจียระไน 11.01% พลอยก้อน เพิ่ม 5.22% และเครื่องประดับเทียม เพิ่ม 3.03%

ส่วนเครื่องประดับแท้ ส่งออกลดลง 2.88% เครื่องประดับเงิน ลด 11.25% จากการส่งออกไปเยอรมนี สหรัฐฯ ฮ่องกง และออสเตรเลียได้ลดลง แต่จีนยังขยายตัวได้สูงถึง 83.75% เครื่องประดับทอง ลด 3.06% จากการส่งออกไปฮ่องกง และสหรัฐฯ ลดลง เครื่องประดับแพลทินัม ลด 16.99% จากการส่งออกไปฮ่องกง และสหรัฐฯ ลดลง เพชร ลดลง 12.84% จากความต้องการบริโภคเพชรที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่เชื่อว่า แนวโน้มการบริโภคเพชรจะดีขึ้น หลังสมาคมผู้ผลิตเพชรได้ออกแคมเปญกระตุ้นการซื้อเพชรออกมาในปีนี้

สำหรับตลาดที่เติบโตได้ดี ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 7.12% สิงคโปร์ เพิ่ม 1.57% จีน เพิ่ม 249.64% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงมาก จากการส่งออกเครื่องประดับเงินที่เพิ่มขึ้นถึง 83.7% และเครื่องประดับทอง 376% อิตาลี เพิ่ม 57.21% เบลเยี่ยม เพิ่ม 4.72% ส่วนฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1 ของไทย ลด 7.49% จากการส่งออกเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงินได้ลดลง สหรัฐฯ ลด 3.76% จากความไม่แน่นอนของภาวะชัดดาวน์ และสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน กัมพูชา ลด 34.26% เยอรมนี ลด 17.13% กาตาร์ ลด 9.82% และอื่นๆ ลด 17.52%

นางดวงกมลกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ จะยังคงทรงตัว และเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากที่ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่า ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เริ่มมีทิศทางที่คลี่คลายลง แต่ก็ต้องจับตาความไม่แน่นอนของการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ความผันผวนของค่าเงินบาทที่อาจจะกลับมาแข็งค่า ภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัวลง

ทั้งนี้ สถาบันอัญมณีฯ มีข้อเสนอแนะให้ผู้ส่งออกต้องทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อป้องกันความผันผวนของค่าเงินบาท และต้องผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า โดยปัจจุบันผู้บริโภคได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่โปร่งใส ธุรกิจที่เข้าร่วมระบบบล็อกเชน และมีแนวโน้มซื้อสินค้าจำพวก Smart Jewelry และสินค้าที่มีนวัตกรรม ผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย ควรปรับตัวและผลิตสินค้าให้ตรงตามที่ตลาดต้องการ ก็จะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งสินค้าไทยในตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น