xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ ร่วม ก.ทรัพย์ฯ ดันกาญจนบุรีนำร่องห้ามเผาอ้อยลด PM 2.5 เริ่มฤดูผลิตปี 63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กระทรวงอุตสาหกรรมหารือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ดันจังหวัดกาญจนบุรีนำร่องห้ามเผาอ้อยเด็ดขาด สั่งอุตสาหกรรมจังหวัดประสานการทำงานร่วมกับทุกฝ่ายหนุนใช้รถตัดอ้อยแทน เริ่มฤดูผลิตปี 63/64 พร้อมดันเหมืองแร่ที่มีมูลค่าสูงต้องทำ SEA

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับ นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ได้หารือถึงการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ซึ่งจากการหารือเตรียมกำหนดพื้นที่ห้ามเผาอ้อยเด็ดขาด โดยจะนำร่องที่ จ.กาญจนบุรีเป็นจังหวัดแรกเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในฤดูผลิตปี 63/64 ก่อนที่จะขยายไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป


“เราจะดูพื้นที่ที่เหมาะสมกับการผลักดันที่จะนำรถตัดอ้อยไปดำเนินการ ซึ่งต้องร่วมมือกับโรงงานและชาวไร่ในพื้นที่เป็นสำคัญ เพราะขณะนี้ชาวไร่อ้อยส่วนหนึ่งได้มีการเผาอ้อยเพื่อตัดเพราะขาดแคลนแรงงานและแปลงเพาะปลูกยังไม่เอื้อ โดยจังหวัดกาญจนบุรีมีโรงงานผลิตน้ำตาล 10 แห่ง และมีพื้นที่ปลูกอ้อย 4 แสนไร่ มีความเหมาะสมนำร่องเพราะขณะนี้มีการใช้รถตัดอ้อยอยู่พอสมควร ซึ่งทางอุตสาหกรรมจังหวัดจะทำงานร่วมกับทรัพยากรจังหวัด โดยจะมีแรงจูงใจมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ หากประสบความสำเร็จก็จะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ระยะยาว” นายพสุกล่าว

นอกจากนี้ยังได้หารือเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่และการกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแร่อย่างยั่งยืนตาม พ.ร.บ.เหมืองแร่ฉบับใหม่ที่จะกำหนดโซนนิ่งการพัฒนาแร่แต่ละชนิดให้เหมาะสม โดยหลักการสำคัญจะต้องมีการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ควบคู่ไปกับการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยจะมีการตั้งคณะทำงานมาพิจารณาร่วมกันว่าควรดำเนินการเหมืองแร่ชนิดใดก่อน ซึ่งจะเน้นที่มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความชัดเจนที่สุด และดูแลพื้นที่ได้รับอนุญาตทำเหมืองแร่ ทั้งการฟื้นฟูและการปรับปรุงส่งพื้นที่คืนร่วมกัน

พร้อมกันนี้ยังหารือการผลักดัน “ศูนย์เฝ้าระวังแบบทันสมัย” 6 ศูนย์ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ราชบุรี ขอนแก่น สงขลา และชลบุรี การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งจะมีการผลักดันให้เกิดการตั้งโรงงานตัดหรือแปรรูปไม้ไผ่ ซึ่งจะเป็นการกระจายป่าไผ่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจได้ไปในตัว การเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ข้อมูลการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมให้เหลือ 20-25% ภายในปี 2010 การกำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ขนาดเล็ก/ใหญ่ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 6 ภายในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมหนึ่งปี เป็นต้น

กำลังโหลดความคิดเห็น