xs
xsm
sm
md
lg

GGC หาพันธมิตรลุย “ไบโอคอมเพล็กซ์” ดึงกรุงไทยปล่อยกู้เฟสแรก 5.2 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


GGC ผนึก KTIS ลุยลงทุนโครงการนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์เฟสแรก 7.5 พันล้านบาท เริ่มก่อสร้าง พ.ค.นี้ เดินเครื่องไตรมาส 1/64 ส่วนลงทุนเฟส 2 คาดใช้เงินลงทุน 1-3 หมื่นล้านบาท กล่อมเนเชอร์เวิร์คตั้งโรงงานผลิต PLA ในนิคมฯ นี้



วันนี้ (27 มีนาคม) กลุ่มบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) กลุ่มบริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (KTIS) ได้มีพิธีลงนามสัญญาเงินกู้ 5,200 ล้านบาท เพื่อการก่อสร้างโครงการนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานกรรมการกลุ่ม GGC และ นายปรีชา อรรถวิภัชน์ ประธานกรรมการกลุ่ม KTIS เป็นประธานในพิธีฯ

นายเสกสรร อาตมางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) กล่าวว่าโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (Nakhon Sawan Biocomplex : NBC) ระยะที่ 1 มูลค่าการลงทุนไม่เกิน 7.5 พันล้านบาท จะเริ่มก่อสร้างในเดือน พ.ค.นี้ และแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2564 สร้างรายได้เพิ่มจากโครงการนี้ 4.5 พันล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าการลงทุนโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ระยะที่ 2 วงเงินลงทุน 1-3 หมื่นล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน รวมถึงการหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือบริษัท เนเชอร์เวิร์ค จากสหรัฐอเมริกา ที่มีแผนจะตั้งโรงงานผลิตไบโอพลาสติกชนิด PLA แห่งที่ 2 รวมทั้งพันธมิตรรายอื่นๆ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 2-3 ในปีนี้

ขณะนี้คณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติให้ลงทุนก่อสร้างโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้จัดตั้งบริษัท จีจีซี ไบโอเคมิคอล จำกัด หรือ GGC Bio ซึ่ง GGC ถือหุ้นร้อยละ 100 เพื่อใช้ร่วมทุนกับกลุ่ม KTIS จัดตั้งบริษัทร่วมทุน จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเตรียล (GKBI) เบื้องต้นโครงการดังกล่าวระยะที่ 1 ใช้เงินลงทุนก่อสร้างไม่เกิน 7,500 ล้านบาท โดยเป็นเงินทุนจากการกู้ 5,200 ล้านบาท และส่วนที่เหลือมาจากเงินทุนของกลุ่ม GGC และกลุ่ม KTIS รายละ 1.3 พันล้านบาทรวม 2.6 พันล้านบาท โดย NBC ถือเป็นไบโอคอมเพล็กซ์และ Bio Hub ครบวงจรแห่งแรกของไทย และนับเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตอ้อยเพื่อเป็นวัตถุดิบในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ และ GGC มีความเชี่ยวชาญด้านผลิตเคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ด้านนายเอกชัย เตชะวิริยะกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ 1 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยมีความยินดีที่ได้สนับสนุนวงเงินกู้โครงการดังกล่าวหลังจากติดตามข้อมูลโครงการนี้มานาน 3 ปี ซึ่งถือเป็นโครงการ New S-Curve ซึ่งกรุงไทยได้ให้สินเชื่อมากกว่านี้ในการทำไร่อ้อย ซื้อเครื่องจักร และบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

ทั้งนี้ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์นี้แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นโครงการก่อสร้างโรงหีบอ้อย มีกำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน โครงการก่อสร้างโรงผลิตเอทานอล มีกำลังการผลิต 600,000 ลิตรต่อวัน หรือราว 186 ล้านลิตรต่อปี และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ มีกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลงทุนต่อยอดการผลิตเคมีภัณฑ์และพลาสติกชีวภาพในระยะที่ 2 ด้วย โดยในระยะที่ 2 นี้ได้มีการศึกษา Cellulosic Technology ร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศ

โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์เป็นหนึ่งในการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์การดำเนินโครงการเพื่อการเติบโตในธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Growth Strategy ของบริษัทฯ ซึ่งสอดรับกับนโยบายโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bioeconomy ของภาครัฐ กอปรกับการที่รัฐบาลได้อนุมัติสิทธิประโยชน์และข้อกำหนดต่างๆ ทำให้กลุ่ม GGC เป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างมหาศาล


กำลังโหลดความคิดเห็น