xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรชั้นนำระดับโลกชูนวัตกรรมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


องค์กรชั้นนำรวมตัวสร้างการเปลี่ยนแปลงในมาตรฐานการผลิตข้าวยั่งยืน ผ่านงานสัมมนา RBF ครั้งแรกในไทย ชี้ภาคอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร ช่วยกระตุ้นการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 6 ต่อปี

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาธุรกิจเพื่อสังคมระดับนานาชาติด้านอาหารและเกษตรกรรม หรือ Responsible Business Forum on Food and Agriculture (RBF) ว่า ความสำเร็จของภาคอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร ช่วยกระตุ้นการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 6 ต่อปี ปัจจัยสำคัญมาจากการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตอาหารและการเกษตร

นายไนออล โอ คอนเนอร์ ผู้อำนวยการกลาง สถาบันสิ่งแวดล้อมกรุงสตอกโฮล์ม กล่าวว่า นวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาห่วงโซ่แห่งคุณค่า (value chain) รวมทั้งจำเป็นสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร สำหรับงานสัมมนา RBF ครั้งนี้ ได้รวบรวมแนวทางการจัดการปัญหาอย่างยั่งยืนในกระบวนการผลิต การเก็บรักษา และการจัดการของเสียในอุตสาหกรรมอาหาร ขณะเดียวกัน นำเสนอแนวทางลดการใช้ทรัพยากร เช่น น้ำ สารเคมี และปุ๋ย เพื่อให้ตลอดกระบวนการผลิตนั้น สามารถผลิตอาหารให้มีคุณภาพสูงและมีการสูญเสียน้อยที่สุดตลอดห่วงโซ่แห่งคุณค่า ในงานสัมมนาธุรกิจเพื่อสังคมระดับนานาชาติด้านอาหารและเกษตรกรรมครั้งที่ 6 ได้รับความสนใจจากผู้มีอำนาจใจการตัดสินใจในอุตสาหกรรมอาหาร เกษตรกรรม และโภชนาการ มากกว่า 400 ราย เข้าร่วมเสวนา เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในด้านงบประมาณและระดับนวัตกรรมที่เหมาะสมในภาคอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร

ด้านนายโทนี่ เกอร์เลย์ กรรมการผู้จัดการ โกลบอล อินนิชิเอทีฟ กล่าวว่า RBF เป็นเวทีสำคัญสำหรับภาคธุรกิจ ภาครัฐ องค์กรระดับนานาชาติ สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา และองค์กรไม่แสวงผลกำไร ในการประสานความร่วมมือและช่วยให้สามารถดำเนินงานร่วมกันอย่างรวดเร็ว เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมโลก

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรไทยและต่างประเทศได้ร่วมแบ่งปันแนวทางการบริหารโครงการต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ตลอดระยะเวลา 2 วัน รวมทั้งแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาโครงการร่วม ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินงานที่มีความท้าทายผ่านห่วงโซ่คุณค่าผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท ตัวอย่างองค์กรชั้นนำ เช่น Global Agribusiness Alliance, Grow Asia, US-Aid และ Croplife Asia

ภายในงานยังมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน (Sustainable Rice Landscapes) ระหว่างสมาชิกสถาบัน ได้แก่ สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSD) องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization) สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute) และ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit หรือ GIZ)

นายวิน เอลลิส ผู้ประสานงาน โครงการมาตรฐานการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน (Sustainable Rice Platform หรือ SRP) กล่าวว่า SRP และพันธมิตรระดับสถาบัน 100 ราย มีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือครั้งนี้ เป้าหมายสำคัญ คือ การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ผลักดันให้เกิดการยอมรับในวงกว้างของเทคโนโลยีจัดการสภาพภูมิอากาศที่ชาญฉลาด กระบวนการผลิตข้าวยั่งยืน ด้วยการใช้เครื่องชี้วัดและมาตรฐานการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนมาตรฐานแรกของโลก

สำหรับการลงนามนี้ แสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานร่วมกันในการสร้างและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมาตรฐานการผลิตข้าวยั่งยืน ด้วยการประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ทุกภาคส่วนในห่วงโซ่คุณค่า และผู้ดูแลในระดับนโยบาย เพื่อให้เกิดการยอมรับ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตที่ได้รับการรับรองและมีประสิทธิภาพ งานสัมมนา RBF จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในฐานะประเทศไทยประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร รวมทั้งสนับสนุนการดำรงตำแหน่งของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนประจำปี พ.ศ. 2562 โดยรวบรวมผู้ประกอบการชั้นนำระดับโลกด้านอาหาร ร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ สอดคล้องกับแนวคิดหลักของอาเซียนประจำปีนี้ที่ว่า “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน”
กำลังโหลดความคิดเห็น