xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสของไทยกับฮวงจุ้ยใหม่ในแผนที่โลก กับยุทธศาสตร์เมืองการบินอู่ตะเภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประเทศไทยจะโชติช่วงชัชวาลไปอีกหลายสิบปีได้หรือไม่ หลายอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับการดึงดูดนักลงทุน นักท่องเที่ยว และการจัดการระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงระดับภูมิภาค ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยพูดถึงความได้เปรียบของภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้เราสามารถเป็นฮับด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ แต่ก็เป็นแค่ลมปาก มีเพียงยุคนี้สมัยนี้ที่เข้าใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด กับการเปิดประมูลสนามบินอู่ตะเภา และต่อยอดสู่เมืองการบินภาคตะวันออก ที่มีครบถ้วนห่วงโซ่คุณค่าการบิน ตั้งแต่ต้นจนจบ

โครงการสนามบินอู่ตะเภา เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องทำให้สำเร็จ เพราะถือเป็นโอกาสของคนไทยทั้งประเทศ โดยต้องเปิดทางให้เอกชนร่วมลงทุน และดึงความสามารถจากคนเก่งทั่วโลกมาช่วยกันทำให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งต้องอาศัยเอกชนไทยรายใหญ่ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกมาช่วยกันทำเพื่อประเทศ และดึงผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาบริหาร ที่ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์และเคยบริหารสนามบินระดับโลกมาแล้ว ถือเป็นการเสริมศักยภาพผลักดันให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินระดับโลก อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการพัฒนาพื้นที่ภายในสนามบินให้กลายเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก ยกระดับให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต

วันนี้ถึงกำหนดยื่นซองประมูลโครงการพัฒนา “สนามบินอู่ตะเภา” สู่ “มหานครการบินภาคตะวันออก” แม้ว่ามูลค่าการลงทุนของโครงการนี้จะสูงถึง 2.9 แสนล้านบาท มีเอกชนทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาซื้อซองประมูลกันมากถึง 42 ราย แต่แน่นอนว่าโครงการนี้ต้องลงทุนเยอะ และความเสี่ยงเยอะ ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศต้องชำเลืองมองนักลงทุนไทย ว่าคนไทยเองมั่นใจกับโครงการนี้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้น การที่มีเอกชนไทยรายใหญ่มาร่วมประมูล ถือเป็นปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับโครงการ ซึ่งต้องมาลุ้นว่าจะมีผู้มายื่นซองประมูลกี่ราย

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าในการประมูลครั้งนี้จะมีผู้ประกอบการอย่างน้อย 3 กลุ่ม ที่จะเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ ได้แก่

1. กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ที่คาดว่าจะจับมือกับพันธมิตรเดิมที่เข้าร่วมประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และเสริมทัพด้วยการดึงผู้บริหารจาก บริษัท Fraport AG Frankfurt Airport Services Worldwide (ฟราพอร์ต) ท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยุโรป ซึ่งถือได้ว่ากลุ่มซีพีมีความแข็งแกร่งในมุมของความเชื่อมั่นจากพันธมิตรระดับโลก เป็นรูปแบบของความร่วมมือระหว่างประเทศ ทำให้ลงหนึ่งได้ถึงสอง นั่นหมายถึงลงทุนในสนามบิน แต่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต่อเนื่องทำให้เกิดเป็นภาพของฮับระดับภูมิภาคได้อีกด้วย

2. กลุ่มบีเอสอาร์ หลังจากพลาดโอกาสในการเจรจาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน แต่ก็ยังจับมือกับพันธมิตรเดิมที่ร่วมประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอย่างเหนียวแน่นเช่นกัน และได้ดึง บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA รวมถึงผู้บริหารสนามบินจากยุโรปและเอเชียมาร่วมลงทุนและเสริมความแข็งแกร่งด้วย ซึ่งความท้าทายของโครงการคือ สามารถดึงผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาร่วมรับความเสี่ยงกับโครงการตามเงื่อนไขต่างๆ ได้ทันเวลาหรือไม่ เพราะโครงการนี้ต้องมีความชัดเจนเรื่องของประสบการณ์ผู้มาบริหารสนามบิน และระยะเวลาในการเตรียมตัวเรื่องสนามบินนั้น ต่างจากโครงการระบบรางทีบีทีเอสมีความเชี่ยวชาญ ทำให้เป็นความท้าทาย แต่ก็มีความคุ้มค่า หากกลุ่มบีเอสอาร์ สามารถก้าวสู่อุตสาหกรรมการบิน

3. กลุ่ม Malaysia Airports Holding Berhad กลุ่มต่างชาติที่บริหารสนามบินกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งยังไม่เปิดเผยพันธมิตรคนไทยว่าจะจับมือร่วมกับใคร ซึ่งวันนี้น่าจะได้เห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

วันนี้ถือว่าเป็นวันสำคัญ ผู้ซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ทั้งหมด 42 ราย เป็นบริษัทต่างชาติ 16 บริษัท และบริษัทไทย 26 บริษัท แต่จะมีผู้มายื่นซองประมูลกี่ราย หากมีผู้มายื่นซองเยอะ ก็จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน เป็นการยกระดับการพัฒนาพื้นที่ภายในสนามบินให้กลายเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก ยกระดับให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต คงต้องเอาใจช่วยให้โครงการนี้สำเร็จ เพราะสุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์คือคนไทยทุกคน


กำลังโหลดความคิดเห็น