xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาฯ เตรียมลงพื้นที่พบเกษตรกร จ.ศรีสะเกษ-สงขลา ชี้ช่องใช้ประโยชน์จาก FTA

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมลงพื้นที่พบปะเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ และสงขลา เดือน พ.ค.นี้ หวังช่วยชี้ช่องการใช้ประโยชน์จาก FTA ทำการส่งออกสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดโลก เผยยังได้ช่วยเกษตรกรรับมือการเปิดเสรีนมและผลิตภัณฑ์ ทั้งการช่วยเหลือ แนะนำ และสร้างโอกาสในการส่งออก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ยังมีกำหนดการที่จะลงพื้นที่ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรในจังหวัดต่างๆ เรื่องประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้ารวม 13 ฉบับ 18 ประเทศ โดยเบื้องต้นได้กำหนดไว้ที่เดือน พ.ค. 2562 จะลงพื้นที่อีก 2 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ และสงขลา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่ไปแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี สินค้าสมุนไพร ขิง ข่า กระชาย ไม้ดอกไม้ประดับ ปราจีนบุรี สินค้าสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ แม่ฮ่องสอน สินค้าชา กาแฟ สมุนไพร ธัญพืช และสุโขทัย สินค้ากาแฟ ส้ม ชาดอกกาแฟ ละมุด และใบตองตานี

ทั้งนี้ สินค้าผลไม้เมืองร้อนของไทยเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จาก FTA โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศคู่เจรจา FTA เช่น อาเซียน จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น เพราะประเทศคู่ค้าเหล่านี้ได้ลดเลิกภาษีศุลกากรให้ไทยแล้ว ซึ่งสามารถที่จะใช้ประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกได้

“ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 18 ของโลก ในปี 2561 ส่งออกสินค้าเกษตรสู่ตลาดโลกได้มูลค่ากว่า 2.66 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.7% คิดเป็น 10.6% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย มีคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ อาเซียน จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป สินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ข้าว น้ำตาล ผลไม้ อาหารปรุงแต่ง ของปรุงแต่งจากผักผลไม้ เครื่องดื่ม อาหารสัตว์ เป็นต้น ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญของไทยส่วนใหญ่ได้ลดภาษีภายใต้ FTA ให้กับไทยแล้ว จึงมีโอกาสที่จะใช้สิทธิพิเศษภายใต้ FTA ในการส่งออกได้” นางอรมนกล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับสินค้าเกษตรของไทยที่อาจจะต้องเตรียมความพร้อมรับการแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศ เช่น สินค้านมและผลิตภัณฑ์นม ซึ่งกรมฯ ได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และชุมนุมสหกรณ์โคนม ลงพื้นที่ให้ความรู้และแนะนำให้เกษตรกรให้ความสำคัญต่อการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า โดยการพัฒนาคุณภาพสินค้าตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและขยายการส่งออกสู่ตลาดโลกโดยใช้ FTA ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น