xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อ ซี.พี.เร่งแจงพันธมิตรร่วมรับความเสี่ยงไฮสปีด 3 สนามบิน ได้/ไม่ได้ รู้ผล 19 มี.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นัดชี้ชะตา ซี.พี. 19 มี.ค. “วรวุฒิ” เชื่อ ซี.พี.ต้องพยายามชี้แจงพันธมิตรร่วมรับความเสี่ยงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แนวโน้มยังไปต่อได้ ยันเจรจายืดหยุ่นได้แต่ต้องอยู่ในกรอบ ครม.อนุมัติ พร้อมแจงเสียงติงค่าเช่าที่ดินมักกะสันเป็นมาตรฐาน ไม่ว่าจะให้เอกชน 3 สนามบิน หรือ ร.ฟ.ท.ทำเอง



นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า จากที่คณะอนุกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท ได้นัดให้กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซี.พี.) ตอบยืนยันในการเจรจาเมื่อวันที่ 5 มี.ค. ซึ่งทาง ซี.พี.ได้มีหนังสือแจ้งขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 13 มี.ค.เนื่องจากไม่พร้อมเพราะพันธมิตรอยู่ต่างประเทศ แต่ทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ หลายท่านติดภารกิจไม่สะดวกในการมาประชุมจึงตกลงที่จะเลื่อนการประชุมเป็นวันที่ 19 มี.ค.แทน โดยคณะกรรมการคัดเลือกจะประชุมในเวลา 09.00 น. และให้ซี.พี.เข้าชี้แจงในเวลา 10.00 น. ซึ่งได้แจ้งกับ ซี.พี.ให้รับทราบตรงกันแล้ว

ประเด็นเหลือที่ ซี.พี.จะรับข้อเสนอที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แจ้งไป ได้หรือไม่เท่านั้น หากยอมรับก็ไปต่อ ซึ่งไม่มีประเด็นใหม่แล้ว และประเด็นที่ทาง ซี.พี.จะชี้แจงและเจรจากับพันธมิตรจะเป็นเรื่องการรับความเสี่ยงร่วมกัน เพราะข้อเสนอนอกกรอบข้อเสนอโครงการ (RFP) จะไม่รับพิจารณา และ ซี.พี.ต้องถอนข้อเสนอนี้ออกไป ซึ่งแนวโน้มน่าจะไปต่อได้ เพราะเรื่องความเสี่ยงต่างๆ นักลงทุนจะรับรู้ตั้งแต่เข้าร่วมประมูลเมื่อ 4 เดือนก่อนแล้ว และเดินหน้ามาถึงขนาดนี้น่าจะไปต่อ

หากสรุปเงื่อนไขยากที่ไม่รับเจรจาได้แล้ว จะได้เดินหน้าเจรจาในส่วนของเงื่อนไขย่อยๆ เช่น ค่าปรับ เงินค่าวางมัดจำ เป็นต้น ซึ่งน่าจะใช้เวลาไม่นาน

ส่วนกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ร.ฟ.ท.ออกมาระบุถึงการให้ที่ดินมักกะสันกับเอกชนนั้น นายวรวุฒิกล่าวว่า เรื่องนี้น่าจะเข้าใจผิด และที่ผ่านมาตนได้ชี้แจงไปหมดแล้ว ซึ่งการประเมินมูลค่าที่ดินมักกะสัน และเอกชนต้องจ่ายค่าเช่านั้นเป็นราคาที่ ร.ฟ.ท.ต้องการอยู่แล้ว และหาก ร.ฟ.ท.ทำเองก็จะได้ในราคานี้ และได้ผ่านการพิจารณาของบอร์ด ร.ฟ.ท. เอกชนไม่ได้ที่ดินไปฟรีๆ และทุกเงื่อนไขเอกชนทราบตั้งแต่ก่อนยื่นประมูลว่าจะต้องเข้ามาประมูลภายใต้เงื่อนไขใด ต้องแบกรับความเสี่ยงอะไรบ้าง จึงต้องเจรจากันในเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นมากที่สุด ภายใต้กรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น