xs
xsm
sm
md
lg

“บางกอกแอร์” ปักธง CLMV ลุยขายตั๋วผ่านออนไลน์ ดันรายได้โต 3.5%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“บางกอกแอร์เวย์ส” ตั้งเป้าปี 62 รายได้เพิ่ม 3.5% ปักธงรุกตลาด CLMV ชี้เติบโตสูง ขายตั๋วผ่านตัวแทนออนไลน์ ลดต้นทุน ดันรายได้ต่อหน่วยเพิ่ม (Yield) จ่อซื้อฝูงบินใหม่ 20 ลำ เพิ่มศักยภาพแข่งขัน ลุยตั้งบริษัทลูก รร.การบิน, ธุรกิจครัว, คาร์โก้ เพิ่มรายได้จากธุรกิจอื่น เสริมสร้างความแข็งแกร่งในอนาคต

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า ปี 2562 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ผู้โดยสารเติบโตประมาณ 3.5% อัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 70% และการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 3% หรือประมาณ 6.16 ล้านคน ขณะที่ปี 2561 มีรายได้รวม 27,943.6 ล้านบาท และมีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางภาษีเท่ากับ 356.8 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เท่ากับ 249.3 ล้านบาท กำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.12 บาทต่อหุ้น มีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 5.95 ล้านคน และมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 68.6%

โดยปี 2562 จะเน้นการเพิ่มเส้นทางบินใหม่ รวมถึงบุกเบิก เปิดเส้นทางที่ยังไม่มีสายการบินอื่นให้บริการ โดยเฉพาะตลาด แถบ CLMV มี 35-40% แต่การเติบโตสูง 10-15% ถือเป็นตลาดที่แข็งแรง โดยใช้กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สมุย และเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยง เมืองสำคัญหรือแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของภูมิภาคเอเชีย

โดยจะลงทุน 3.3 พันล้านบาท แบ่งเป็น การจัดการจัดซื้อเครื่องบินแบบ ATR 72-600 จำนวน 2 ลำ รับมอบใน Q 2/62 จัดซื้ออะไหล่เครื่องบิน, การปรับปรุงสภาพภายในเครื่องบิน วงเงินรวม 1,815 ล้านบาท โครงการพัฒนาสนามบินสุโขทัย 958 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการด้าน EIA คาดว่าจะได้รับอนุมัติปีนี้และก่อสร้างอีก 2 ปี, การขยายทางวิ่งและพัฒนาสนามบินตราด 334 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในโครงการพัฒนาระบบด้านไอที 193 ล้านบาท

“บริษัทฯ มีแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ 20 ลำในช่วง 4-5 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับแอร์บัส และโบอิ้ง ในเงื่อนไขที่เหมาะสมกับธุรกิจและแผนของบริษัท คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้ และแผนการจัดหาเพื่อเปลี่ยนเครื่องบินจากรุ่น ATR 72-500 เป็น รุ่น ATR 72- 600 ให้หมดทั้ง 15 ลำ (ตอนนี้เปลี่ยนแล้ว 11 ลำ ที่เหลือ 4 ลำจะเปลี่ยนหมดในปี 62) จะทำให้มีฝูงบินทันสมัยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ”

สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน อาทิ ธุรกิจครัวการบินในปี 2561 บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด (Bangkok Air catering - BAC) มีส่วนแบ่งทางการตลาด 25% มีลูกค้า 20 สายการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ และบริษัทครัวการบินกรุงเทพภูเก็ต จำกัด มีลูกค้าจำนวน 12 ราย และบริษัท กูร์เมท์ พรีโม่ จำกัด มีจำนวนลูกค้าจำนวน 12 ราย ในส่วนของธุรกิจบริการภาคพื้น บริษัท การบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด (BFS Ground) มีส่วนแบ่งทางการตลาด 56% มีลูกค้าเพิมขึ้นจำนวน 5 ราย รวมเป็น 79 สายการบิน และบริษัทดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด (BFS Cargo) มีส่วนแบ่งทางการตลาด 49 % มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมเป็น 69 สายการบิน”

เมื่อมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อขีดความสามารถ ขณะเดียวกันจะควบคุมค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม เช่น การประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน (hedging) เฉลี่ย 50-70% โดยไตรมาส1 ทำไว้ประมาณ 74% ไตรมาส 2 ประมาณ 73% ไตรมาส 3 ประมาณ 61% ส่วนไตรมาส 4 ประมาณ 53% แล้ว หลักการเพื่อดูแลค่าใช้จ่ายน้ำมันที่ราคาผันผวน ขณะที่บริษัทฯ ขายตั๋วโดยสารล่วงหน้าเป็นปี หากสามารถดูแลต้นทุนน้ำมันได้ดีจะมีโอกาสในทางธุรกิจ ซึ่งภาพรวมสามารถดำเนินการได้ดี

“ปีนี้จะปรับการขายผ่านออนไลน์มากขึ้น ตามพฤติกรรมลูกค้า โดยได้พัฒนาการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายออนไลน์ (Online Travel Agency - OTA) จากทั่วโลก อาทิ eDreams ctrips mystifly Make My Trip (MMT) ช่วยเพิ่มเครือข่ายการขายไปทั่วโลก โดยเฉพาะจุดที่การขายผ่านเอเย่นต์หรือเวปไซด์ของบริษัทเข้าไม่ถึงขณะที่มีค่าใช้จ่ายการขายถูกลง เท่ากับขายตั๋วในราคาเดิมแต่ได้เงินเพิ่มขึ้น หรือมีรายได้ต่อหน่วย Yield มากขึ้น เชื่อว่ายอดขายผ่านออนไลน์จะโตกว่า 10%”

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะยังคงเน้นการขายในตลาดกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) โดยเน้นการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่น โดยมีการออกโปรโมชันที่น่าสนใจ เช่น โปรโมชัน Go Samui และมีแผนที่จะเจาะกลุ่มตลาดนักเดินทางเพื่อธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้น อาทิ แคมเปญ Fly & Meet Double Bonus ที่ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) ที่มอบสิทธิประโยชน์พิเศษให้แก่นักเดินทางในกลุ่มองค์กรธุรกิจ


“และบริษัทฯ มีแผนขยายธุรกิจแบบเช่าเหมาลำ (Chartered Flights) โดยปัจจุบันสายการบินฯ มีเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำในเส้นทางระหว่างสมุย-เฉิงตู และสมุย-ฉงชิ่ง นอกจากนี้ บริษัทยังมีการเพิ่มรายได้จากบริการเสริมต่างๆ อาทิ บริการอัปเกรดห้องรับรอง บริการอัปเกรดที่นั่ง รวมไปถึงการขายพื้นที่สื่อของสายการบินฯ อาทิ นิตยสารบนเครื่อง เป็นต้น”

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากค่าโดยสารอยู่ที่ 74% ส่วนรายได้อื่นๆ อยู่ที่ 26% การขยายธุรกิจอื่นๆ โดยตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการ คาดว่าจะทำให้เพิ่มรายได้ของบริษัทฯ ในภาพรวม และสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ขึ้นเป็น 50:50 ใน 4-5 ปี ซึ่งเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้บริษัท


กำลังโหลดความคิดเห็น