xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.จับมือผู้พัฒนานิคมฯ ในอีอีซีเปิดศูนย์ SMEs-ITC 13 แห่งทั่ว ปท.ปั้นสตาร์ทอัพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กนอ. จับมือผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ของไทย เปิดศูนย์ SMEs-ITC เพื่อเสริมศักยภาพการผลิต ต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่เอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพหน้าใหม่ 13 แห่งในนิคมฯ ทั่วประเทศ

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย โดยการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทยทั้งระบบ ในด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพ การบริหารจัดการ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิต เพิ่มมูลค่าของสินค้าให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และ สตาร์ทอัพ (Startup) ผ่านกลไกการทำงานของศูนย์ SMEs Industry Transformation Center : SMEs-ITC รวมทั้งสิ้น 13 แห่งในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยในปี 2561 ที่ผ่านมาได้เปิดอย่างเป็นทางการไปแล้วจำนวน 10 แห่ง และในปี 2562 กนอ.ได้ร่วมกับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดำเนินการเปิดศูนย์ SMEs-ITC เพิ่มอีกจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 2 และนิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี จังหวัดฉะเชิงเทรา

“ทั้งนี้ เป้าหมายการเปิดศูนย์ SMEs-ITC ทั้ง 3 แห่งเป็นพื้นที่เป้าหมายการลงทุนที่มีศักยภาพของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั่วโลก ดังนั้น เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพจะเป็นส่วนสนับสนุนในส่วนการผลิตที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องพร้อมในด้านการผลิตให้ได้มาตรฐานสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้” น.ส.สมจิณณ์กล่าว

สำหรับการดำเนินงานของศูนย์ SMEs-ITC ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ จะมุ่งเน้นให้เกิดการเชื่อมโยงการบริการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ SMEs ทั้งในและนอกพื้นที่ โดยศูนย์บริการดังกล่าวจะให้บริการด้านต่างๆ ทั้งการใช้เป็นศูนย์การฝึกอบรมเพื่อเป็นแหล่งเพิ่มองค์ความรู้ทั้งด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ การสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ การเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่ให้บริการที่ครบวงจร หรือ Co-Working Space ขณะเดียวกันยังสามารถให้คำปรึกษาในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและโอกาสขยายธุรกิจเพื่อการลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ผ่านผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นเสมือนพี่เลี้ยงในการให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ เช่น การต่อยอดผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการด้านการตลาด เป็นต้น

นอกจากนี้ นับเป็นความตื่นตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ที่ให้ความสำคัญในการยกระดับการผลิตในด้านต่างๆ ผ่านการเข้ามาใช้บริการภายในศูนย์ SMEs-ITC ที่มีการเปิดให้บริการไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางชัน นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร

น.ส.สมจิณณ์กล่าวว่า การพัฒนา SMEs และสตาร์ทอัพผ่านศูนย์ฯ ดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและธุรกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง พร้อมที่จะพัฒนาธุรกิจไปสู่การเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตจนเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น