xs
xsm
sm
md
lg

ไทยมีศักยภาพเป็นฮับ LNG ภูมิภาคนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักลงทุนมั่นใจไทยมีศักยภาพพร้อมเป็นฮับ LNG ในภูมิภาคนี้ เหตุมีความได้เปรียบด้านตลาดและการขนส่ง ขณะที่สายตานักลงทุนต่างชาติชี้ไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจลงทุนด้านพลังงาน ด้าน กฟผ.ลั่น มิ.ย.นี้รู้ผลผู้ชนะประมูลจัดหา LNG 1.5 ล้านตัน

นายธนาเดช ศิลปวิศวกุล ประธานที่ปรึกษาคณะผู้จัดงานงานสัมมนา “การพัฒนาศักยภาพการซื้อขาย LNG และ LPG ในเอเชีย 2019” ภายใต้การสนับสนุนของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน วันนี้ (27 ก.พ.) ว่า ขณะนี้ไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจมากด้านพลังงานในสายตานักลงทุนต่างชาติหลังจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดเสรีด้านพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซฯ โดยเมื่อปีที่แล้วการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดประมูลนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 1.5 ล้านตัน/ปีก็ได้รับความสนใจอย่างมาก และในปี 2579 ไทยจะนำเข้า LNG สูงถึง 24 ล้านตัน นับเป็นการนำเข้าถึง 71% ของปริมาณการใช้ก๊าซฯ ในประเทศ


ประเทศไทยจึงมีศักยภาพมากที่จะเป็นศูนย์กลางการค้า LNG/LPG ในภูมิภาคนี้ เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานทั้งคลังเก็บแอลเอ็นจีของ ปตท. 10 ล้านตัน และท่อส่งก๊าซฯ รวมทั้งมีตลาดการใช้ LNG ในประเทศที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และนโยบาย “One Belt One Road” (OBOR) ของจีนยิ่งสร้างความได้เปรียบด้านการขนส่งให้ไทย


ดังนั้น เพื่อให้ไทยเป็นฮับ LNG รัฐบาลต้องมีการออกกฎระเบียบที่ชัดเจนสอดรับนโยบายเปิดเสรีก๊าซฯ เพราะหากกฎระเบียบไม่ชัดเจน หรือเปลี่ยนแปลงบ่อยจะทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้ามาลงทุนในไทยได้ ขณะเดียวกัน ช่วงนี้ราคาก๊าซ LNG ค่อนข้างต่ำและกระแสรักษ์โลกทำให้หลายประเทศหันมาใช้เชื้อเพลิงสะอาดมากขึ้น ทำให้ LNG กลายเป็นเชื้อเพลิงหลักของโลก


นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. กล่าวถึงความคืบหน้าการออกประกาศเชิญชวนให้ผู้ผลิตหรือผู้ค้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดสากล เข้าร่วมการประมูลจัดหา LNG ในปริมาณ 0.8-1.5 ล้านตัน ให้กับ กฟผ.ว่า ขณะนี้ กฟผ.ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น (PQ) แล้วจำนวน 32 ราย จากที่มีผู้ยื่นเอกสารแสดงความสนใจ (REOI) และส่งข้อมูลที่แสดงถึงความพร้อมในการจัดส่ง LNG จำนวน 43 ราย โดยจะเปิดให้ยื่นเอกสารเงื่อนไขหลักเกณฑ์การประมูล (TOR) ในเดือน เม.ย.นี้ และคาดว่าจะประกาศผลผู้ได้รับสิทธิ์จัดหา LNG ได้ในเดือน มิ.ย.นี้ พร้อมเริ่มนำเข้า LNG ล็อตแรกได้ตามแผนภายในปีนี้


“ผู้ชนะที่จะได้รับคัดเลือกให้จัดหา LNG ป้อน กฟผ.จะมีเพียงรายเดียวเท่านั้น และจะต้องเป็นผู้เสนอราคาก๊าซต่ำสุดเมื่อเทียบกับทุกๆ สัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวของประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหากการประมูลครั้งนี้พบว่าไม่มีผู้เสนอราคาต่ำที่สุด อาจจะต้องกลับไปสู่การเริ่มต้นประมูลใหม่เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่กำหนดให้ LNG นำเข้าของ กฟผ.ต้องมีราคาไม่แพงและไม่กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า”

ปัจจุบันเอเชียมีการใช้พลังงานมากที่สุดในโลกคิดเป็น 42.50% ของการใช้พลังงานทั้งโลก และยังมีอัตราการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นต่อปีเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่กลับมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเพียงแค่ 11.5% ของปริมาณการใช้พลังงานทุกประเภทในเอเชีย ถือเป็นสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่ต่ำที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับทวีปอื่นๆ โดยไทยมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.6% ต่อปี สำหรับ LPG พบว่าปริมาณที่ผลิตได้กลับลดลงเฉลี่ย 2.7% ต่อปี ซึ่งสวนทางกับความต้องการใช้ ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นทุกปี


งานสัมมนา "การพัฒนาศักยภาพการซื้อขาย LNG และ LPG ในเอเชีย 2019" ระหว่างวันที่ 27-28 ก.พ.นี้ ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงพลังงานของไทย คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานสัมมนามากกว่า 200 ท่านจากกว่า 15 ประเทศ ที่เป็นผู้นำทางด้านธุรกิจ LNG และ LPG ของโลกเข้าร่วมงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น