xs
xsm
sm
md
lg

“คณิศ” มั่นใจ 5 บิ๊กโปรเจกต์อีอีซีเดินตามเป้า ดัน ศก.ไทยโต 5% ต่อปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“คณิศ” มั่นใจลงทุน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซีจะได้ผู้ชนะประมูลครบทุกโครงการภายใน มี.ค.-เม.ย.นี้ รับช้าไป 2 เดือนแต่ทุกอย่างยังเดินตามเป้าหมาย เร่งเครื่องวางแผนพัฒนามหานครการบินภาคตะวันออกรอบสนามบินอู่ตะเภา มั่นใจ 5 ปีก่อให้เกิดการลงทุนรวม 1.5-1.7 ล้านล้านบาท ดัน ศก.ไทยโต 5%

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยหลังการนำเสนอข้อมูล “โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนามหานครการบินภาคตะวันออกรอบสนามบินอู่ตะเภา” ที่ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานทั้งท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือสัตหีบ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นนักลงทุนเอกชนเป้าหมายว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี 5 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 จะได้ผู้ชนะประมูลได้ครบทั้งหมดภายใน มี.ค.-เม.ย.นี้และจะก่อให้เกิดการลงทุนในระยะ 5 ปี รวมประมาณ 1.5-1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตปีละ 5%

“เราเองก็พยายามจะเร่งให้เร็ว แต่ก็ยอมรับว่าช้ากว่าที่คิดไว้ 2 เดือน แต่ก็ถือว่าได้เดินตามเป้าหมายแล้วซึ่งจะเห็นว่าในอดีตที่ผ่านมาการลงทุนจากภาคเอกชนติดลบมาก แต่เมื่อไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้วการลงทุนเอกชนได้เติบโต 4-5% จึงมีผลให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวระดับ 4.1% และเมื่อมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี คาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนเฉลี่ย 3 แสนล้านบาทต่อปี ก็จะทำให้การลงทุนของเอกชนมีโอกาสเติบโตได้ระดับ 10% ในอีก 5 ปีข้างหน้าโดย 5 ปีแรกจะว่าด้วยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วน 5 ปีหลังเป็นเรื่องการพัฒนาเมือง” นายคณิศกล่าว

ทั้งนี้ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาจะพัฒนาให้เป็นเมืองการบินในระยะ 5 ปี และระยะ 10 ปีจะเป็นมหานครการบินภาคตะวันออกซึ่งจะเป็นรูปแบบใหม่ของการพัฒนาเมืองของประเทศไทยที่จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่อีอีซีให้ประสบผลสำเร็จ โดยมีผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ภาคตะวันออกและประเทศไทยโดยรวม

ส่งเสริมภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการของประชาชนในพื้นที่ (MICE) เกิดต้นแบบการพัฒนาเมืองการบินที่มีแบบแผน ทิศทางที่ชัดเจนและเป็นระบบเพื่อต้นแบบประเทศในการพัฒนาต่อไป เกิดความต้องการบุคลากรในสายงานหลายด้านสร้างอาชีพ รายได้ดีใหม่ ลดปัญหาการว่างงาน มีโครงสร้างที่เชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ ทำให้เกิดจุดแข็งที่โดดเด่น ลดข้อจำกัดด้านเวลาและต้นทุนธุรกิจ เพิ่มรายได้และจีดีพีกับพื้นที่ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวโดยไม่กระจุกอยู่เฉพาะกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

“เราจะพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาไม่ให้เกิดปัญหาแออัดในอนาคตโดยจะแบ่งเขตการพัฒนาแต่ละพื้นที่ โดยในช่วง 10 ปีนับจากนี้ไป แบ่งเป็นชั้นใน 10 กิโลเมตรรอบสนามบินอู่ตะเภา และเขตชั้นกลาง 30 กิโลเมตรจากสนามบิน สามารถเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงภายในเวลา 17-19 นาที และทางถนนไม่เกิน 40 นาที และเขตชั้นนอก 60 กิโลเมตรจากสนามบิน กำหนดกรอบเวลาในการพัฒนาประมาณ 5-15 ปี นับจากโครงการสนามบินอู่ตะเภาและรถไฟความเร็วสูงเสร็จ” นายคณิศกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น