xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.ปิดประตูซีพี ปัด 12 ข้อเสนอขัดครม. ขีดเส้น 5 มี.ค.ถอนเงื่อนไขเพื่อไปต่อ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
กก.คัดเลือกฯปิดประตู”ซีพี” ไม่รับข้อเสนอนอกกรอบ RFP และขัดครม.ทั้ง 12 ข้อ ขีดเส้น 5 มี.ค. ฟังคำตอบ “วรวุฒิ”เชื่อ ซีพี สู้จนนาทีสุดท้าย คาดสรุปมี.ค. เร่งก่อสร้างใน6เดือน

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (22 ก.พ.) คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท ได้รับทราบรายงานการเจรจาของคณะอนุกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ที่มีนางพฤฒิพร เนติโพธิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธาน กับ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซี.พี.) และพันธมิตร โดยคณะกรรมการได้พิจารณาแล้ว มีมติไม่รับข้อเสนอ ที่อยู่นอกเหนือจากข้อเสนอการร่วมลงทุน Request for Proposal (RFP)และขัดกับ มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยจะเร่งส่งหนังสือแจ้งไปให้ซีพี รับทราบผลการเจรจาในเบื้องต้นภายในวันนี้

ทั้งนี้ หากซีพี ยังประสงค์จะเจรจาต่อ ให้ ประชุมและเจรจากับคณะกรรมการคัดเลือกฯในวันที่ 5 มี.ค. เวลา 14.00น. โดยจะไม่นำประเด็นที่ปฎิเสธมาพิจารณาอีก

ซึ่งจากข้อเสนอทั้งหมด 108 ข้อ นั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ ปฎิเสธข้อเสนอในกลุ่มยากที่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเงิน เช่น ขอขยายอายุสัมปทาน จาก 50 ปี เป็น 99 ปี การขอให้ภาครัฐจ่ายเงินอุดหนุนโครงการตั้งแต่ปีแรก และการรับประกันผลตอบแทนโครงการกรณีต่ำกว่า 6.75% เป็นต้น ซึ่งมีทั้งหมด 12 ข้อ ซึ่งถือเป็นประเด็นหลักและเป็นหัวใจสำคัญ ส่วน ประเด็นที่เหลือ แม้จะมีหลายข้อ แต่ไม่ขัดต่อ RFP และ มติ ครม. ซึ่งหากซีพี ยอมรับมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะสามารถเร่งเจรจาในส่วนที่เหลือ ได้จบในเดือนมี.ค. เพื่อให้เริ่มก่อสร้างได้ภายใน 6 เดือน

สำหรับประเด็นที่เหลือซึ่งไม่ขัดกับ RFP และมติครม.นั้น เป็นข้อเสนอเงื่อนไขทั่วไปของการทำสัญญา เช่น ค่าปรับในกรณีต่างๆ ,การเลิกสัญญา,กรณีเกิดเหตุสุดวิสัย อาทิ ภัยสงคราม ,จราจล ภัยธรรมชาติ ที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้า และความรับผิดชอบของภาครัฐ ซึ่งมีมาตรฐานการทำสัญญาทั่วไป

“ซีพีคงไม่น่าถอนตัวง่ายๆ เพราะเห็นว่ามีความตั้งใจสูง คิดว่าน่าจะสู้ต่อจนนาทีสุดท้าย และการเจรจาที่ผ่านมายังไม่มีท่าทีแบบนั้น ยกเว้นจะคุยกับพันธมิตรที่เป็นหุ้นส่วนไม่ได้ ซึ่งประเด็นที่ซึ่พี กลัวคือ การบริหารความเสี่ยง ซึ่งโอกาสที่จะไม่เกิดอย่างที่กังวลก็มี แต่โอกาสที่จะเกิดก็ยังสูง ซึ่ง ภาคธุรกิจจะมองตรงนี้ ทั้งนี้ ยืนยัน คณะกรรมการคัดเลือกฯไม่มีแรงกดดันจากฝ่ายนโยบาย มีแต่สอบถามและเร่งให้เจรจา”

อย่างไรก็ตาม กรณีวันที่5 มี.ค.หาก ทางซีพี ไม่ยอมรับมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ และทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถจะเจรจาต่อไปได้ จะต้องยุติการเจรจา โดยตามเงื่อนไขการประมูล คณะกรรมการคัดเบือกฯ จะเชิญผู้ยื่นข้อเสนอรายต่อไปคือ กลุ่ม กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) มาเปิดข้อเสนอซองที่4 และเจรจาต่อรองต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น