xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยใช้สิทธิพิเศษส่งออกปี 61 พุ่ง 14.76% เตือน 1 เม.ย. 62 ญี่ปุ่นตัด GSP ไทยหมด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“กรมการค้าต่างประเทศ” เผยยอดใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าทั้ง FTA และ GSP ปี 61 ทะลุ 7.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.76% อาเซียนนำโด่งใช้สิทธิ FTA มูลค่าสูงสุด ส่วนสหรัฐฯ ใช้สิทธิ GSP สูงสุด พร้อมแจ้งข่าวญี่ปุ่นจะตัด GSP สินค้าไทยทั้งหมด 1 เม.ย. 62 ยันไม่กระทบ เหตุสามารถใช้สิทธิภายใต้ FTA ทดแทนได้ ระบุปี 62 ตั้งเป้ามูลค่าใช้สิทธิทะลุ 8 หมื่นล้านเหรียญ เพิ่ม 9%

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ของปี 2561 (ม.ค.-ธ.ค.) มีมูลค่าการใช้สิทธิรวมอยู่ที่ 74,335.60 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.76% หรือคิดเป็นอัตราการใช้สิทธิอยู่ที่ 76.95% ของการได้รับสิทธิทั้งหมด ซึ่งเป็นการใช้สิทธิที่สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่มูลค่า 70,794 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% โดยการใช้สิทธิทั้งหมด แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิภายใต้ FTA มูลค่า 69,602.11 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.16% หรือคิดเป็นอัตราการใช้สิทธิอยู่ที่ 78.48% และภายใต้ GSP มูลค่า 4,733.49 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.20% หรือมีอัตราการใช้สิทธิ 59.81%

ทั้งนี้ การใช้สิทธิภายใต้ FTA 5 อันดับแรก อาเซียนเป็นอันดับหนึ่ง มีมูลค่า 26,890.32 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมา คือ จีน มูลค่า 17,633.94 ล้านเหรียญสหรัฐ ออสเตรเลีย มูลค่า 9,121.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น มูลค่า 7,565.75 ล้านเหรียญสหรัฐ และอินเดีย มูลค่า 4,466.36 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการใช้สิทธิภายใต้ GSP พบว่า มีการใช้สิทธิส่งออกไปสหรัฐฯ มากสุด คือ ประมาณ 90% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด มีมูลค่า 4,248.59 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.04% หรือมีอัตราการใช้สิทธิ 67.51%

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2562 เป็นต้นไป ญี่ปุ่นจะตัด GSP ที่ให้กับไทยทุกรายการ เพราะไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงเป็นเวลา 3 ปี แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อไทย เพราะสินค้าที่ถูกตัด GSP ทั้งหมด สามารถใช้สิทธิพิเศษภายใต้ FTA กับญี่ปุ่นที่มีอยู่ 2 กรอบ คือ JTEPA (ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยญี่ปุ่น) และ AJCEP (ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น) และได้ลดหย่อนภาษีนำเข้าในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ยกเว้นซอร์บิทอลเพียงรายการเดียวที่ได้รับผลกระทบ เพราะถูกตัด GSP และไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีทั้งภายใต้ JTEPA และ AJCEP

สำหรับปี 2562 กรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าทั้ง FTA และ GSP ไว้ที่มูลค่า 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% โดยเป็นการตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ที่ตั้งไว้ที่มูลค่า 272,685 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8% และยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขับเคลื่อนการส่งออกไปยังตลาดเดิมและตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ การพัฒนาระบบการให้บริการของกรมฯ เพื่อรองรับการใช้สิทธิที่ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น แต่ก็ต้องจับตาในเรื่องผลกระทบจากสงครามการค้าที่ยังไม่ชัดเจน การผันผวนของค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ และการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในหลายประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น