xs
xsm
sm
md
lg

BEM นัดประชุมผู้ถือหุ้นยุติข้อพิพาท กทพ. แลกต่อสัมปทานทางด่วน 3 สัญญาถึงปี 2600

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บอร์ดทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เรียกประชุมผู้ถือหุ้น 18 มี.ค.นี้เพื่ออนุมัติการยุติข้อพิพาททั้งหมดกับ กทพ. มูลค่ารวม 1.37 แสนล้านบาท เพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทาน 3 สัญญาสิ้นสุดในปี 2600 โดยบริษัทจะลงทุนปรับปรุงทางด่วนขั้นที่ 2 วงเงิน 3.15 หมื่นล้านบาท

นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2562 มีมติเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2562 ในวันที่ 18 มี.ค. 2562 เพื่อพิจารณาอนุมัติให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย คือบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ยุติข้อพิพาททั้งหมดกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยมีการทบทวนและแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สัญญาเพื่อการต่อขยายโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนดี) และสัญญาโครงการระบบสายบางปะอิน-ปากเกร็ด

ซึ่งการยุติข้อพิพาททั้งหมดดังกล่าว ทางบริษัทฯ จะได้รับการขยายระยะเวลาสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สัญญาเพื่อการต่อขยายโครงการระบบท่งด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด จากเดิมที่ครบกำหนดสัญญาในปี 2563 ปี 2570 และปี 2569 ตามลำดับ เป็นสัญญาสิ้นสุดในวันที่ 21 เม.ย. 2600 รวมทั้งให้บริษัทลงทุนปรับปรุงระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และบริษัทย่อยเป็นผู้ดำเนินการให้บริการและบำรุงรักษาทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางตลาดระยะเวลาสัญญา ดังนี้คือ ส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ส่วนในเมืองร้อยละ 40 และรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดจากทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนซีและทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนดี และส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดจากทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด โดยปรับอัตราค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นแบบคงที่ทุกระยะเวลา 10 ปีสำหรับรถทุกประเภท โดยบริษัทฯ มีหน้าที่ลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงทางด่วนขั้นที่ 2 ใช้เงินลงทุนประมาณ 3.15 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดหลังรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของ กทพ.ผ่านความเห็นชอบ

ทั้งนี้ กทพ.และบริษัท/บริษัทย่อยจะลงนามสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานเดิมภายหลังจากได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น และภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2561 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในข้อพิพาทเรื่องผลกระทบจากการแข่งขันให้ กทพ.ชดเชยรายได้ที่ลดลงจากประมาณการเนื่องจากผลกระทบทางแข่งขันให้บริษัทย่อย ซึ่งข้อพิพาทดังกล่าวมีมูลค่ารวมสูงถึง 137,517 ล้านบาท โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2561 ได้รับทราบเรื่องดังกล่าว และมีมติให้ กทพ.เจรจาต่อรองกับคู่พิพาทเพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐและให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนโดยให้ดำเนินการอย่างโปร่งใสและชอบด้วยกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น