xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกปี 61 โต 6.7% ต่ำกว่าเป้า 8% เจอพิษสงครามการค้าฉุด ส่วนปี 62 ต้องทำงานหนักลุ้นเป้า 8%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“พาณิชย์” เผยส่งออกปี 61 โต 6.7% ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 8% เหตุเจอผลกระทบจากสงครามการค้าฉุด แต่ถือว่าทำได้ดีในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ส่วนยอดส่งออกรวมทั้งปีแตะ 2.52 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เผยปี 62 เป้า 8% ต้องทำงานกันอย่างหนัก ระบุหากสงครามการค้ายุติจะส่งผลดีการค้าโลกและส่งออกไทย แต่ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยง ทั้งเศรษฐกิจคู่ค้า ราคาเกษตร และบาทแข็ง

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ธ.ค. 2562 มีมูลค่า 19,381.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.72% ถือเป็นการส่งออกที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 18,316.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.15% และเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบปี 2561 แต่ยังเกินดุลการค้ามูลค่า 1,064.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

สาเหตุที่ทำให้การส่งออกเดือน ธ.ค.ติดลบ มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรลดลง 6.6% สินค้าที่ลดลง เช่น ข้าว ลด 5.5% ยางพารา ลด 32.3% มันสำปะหลัง ลด 22.8% อาหาร ลด 3.3% กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป ลด 13.2% และสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาติดลบ 0.8% สินค้าที่ลดลง เช่น รถยนต์นั่ง ลด 0.9% รกจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ลด 4.4% เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ลด 13.5% เครื่องใช้ไฟฟ้า ลด 1.7%

นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้มูลค่าหายไป 239.8 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นผลกระทบทางตรงจากการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษี ทำให้ส่งออกได้มูลค่า 47.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 48.5% หรือมูลค่าหายไป 44.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้แก่ โซลาร์เซลล์ ลด 88.2% เครื่องซักผ้า ลด 28.8% เหล็ก ลด 43.8% แต่อะลูมิเนียม เพิ่ม 156% ผลกระทบจากการเป็นห่วงโซ่ให้กับจีน และสินค้าของจีนถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษี มีมูลค่าส่งออก 2,280 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.3% มูลค่าหายไป 207.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบ ลด 48.9% ของใช้ในบ้านและออฟฟิศ ลด 27.4% ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์และแผงวงจรไฟฟ้า ลด 32.3% เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ลด 9.7% แต่อาหารปรุงแต่งและเครื่องดื่ม เพิ่ม 82.3% เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก เพิ่ม 13.3% และกลุ่มสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนสินค้าจีนที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษี โดยส่งออกไปสหรัฐฯ มีมูลค่า 1,689 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.7% หรือมีมูลค่าส่งออกเพิ่ม 12 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่น เหล็ก เพิ่ม 63.6% เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก เพิ่ม 29.1%

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า การส่งออกทั้งปี 2561 มีมูลค่ารวม 252,486.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.7% ขยายตัวต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 8% โดยตัวเลขรวม ถือว่ามูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และถือว่าทำได้ดี เมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ ที่มีปัญหาทั้งเศรษฐกิจคู่ค้าและปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และเมื่อดูตลาดส่งออก เพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด เช่น ญี่ปุ่น เพิ่ม 13% สหรัฐฯ เพิ่ม 5.4% สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) เพิ่ม 5% อาเซียน (9 ประเทศ) เพิ่ม 14.7% CLMV เพิ่ม 16.6% จีน เพิ่ม 2.3% อินเดีย เพิ่ม 17.3% ฮ่องกง เพิ่ม 1.8% เกาหลีใต้ เพิ่ม 4.9% ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 2.9% แอฟริกา เพิ่ม 9.7% ละตินอเมริกา เพิ่ม 3.1% สหภาพยุโรป (12 ประเทศ) เพิ่ม 7.1% รัสเซียและ CIS เพิ่ม 10.1% ส่วนตะวันออกกลาง ลด 5% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 249,231.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.51% เกินดุลการค้ามูลค่า 3,254.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

“การส่งออกภาพรวมปี 2561 ช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้ดี เพราะยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่พอมาครึ่งปีหลัง การส่งออกเริ่มได้รับผลกระทบ โดยผลกระทบภาพรวมจากสงครามการค้าทั้งปี พบว่า มูลค่าหายไป 382.1 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น ผลกระทบจากมาตรการทางตรงสหรัฐฯ ลดลง 41.6% มูลค่าการส่งออกหาย 421.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานจีน ลดลง 5.8% มูลค่าส่งออกหายไป 438.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และผลกระทบเชิงบวกจากการส่งออกทดแทนสินค้าจีนไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9.6% มูลค่าเพิ่ม 478 ล้านเหรียญสหรัฐ”

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับการส่งออกในปี 2562 ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกเติบโตไว้ที่ 8% ซึ่งจะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยต่อเดือนอย่างน้อยเดือนละ 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป ถือเป็นงานที่ท้าทาย โดยเฉพาะเรื่องของสงครามการค้าที่ยังต้องติดตามกันต่อว่าสหรัฐฯ และจีนจะยุติปัญหาระหว่างกันได้ลุล่วงได้หรือไม่ เพราะล่าสุดจีนได้ประกาศจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นเวลา 6 ปี ระหว่างการเจรจาพักรบสงครามการค้าในช่วง 90 วัน แต่ก็ต้องรอดูท่าทีของสหรัฐฯ ก่อนว่าจะเอายังไง ถ้าเห็นด้วยก็จะช่วยให้การค้าโลกกลับมาฟื้นตัว และส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป แต่ถ้าไม่ยุติ ก็จะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกต่อไป และยังต้องจับตาเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว ราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และค่าเงินบาทที่แข็งค่า ที่ล้วนแต่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

“การผลักดันการส่งออกในปี 2562 กระทรวงพาณิชย์จะต้องเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยเป็นห่วงโซ่การผลิตของจีน ทั้งกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรไฟฟ้า และต้องเร่งดึงดูดการลงทุนในระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออก และต้องเร่งเจรจาผลักดันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้สำเร็จโดยเร็ว รวมถึงการเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับคู่ค้าใหม่ๆ เพื่อลดภาษี และสร้างแต้มต่อในการส่งออก” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น