xs
xsm
sm
md
lg

“สุวิทย์” ยันไทยแลนด์ 4.0 เป็นจริง ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศ หวัง รบ.ใหม่สานต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“สุวิทย์ เมษินทรีย์” ย้ำใช้วิทยาศาสตร์ปรับเปลี่ยนโครงสร้างประเทศสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างมั่นคงและสมศักดิ์ศรี ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ผลักดัน 13 เรื่องจนเป็นรูปธรรม ขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม เชื่อมั่นรัฐบาลใหม่สานต่อ รักษาโมเมนตัมการเติบโต

วันนี้ (7 ม.ค.) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในงานสัมมนา "KrungThai Next Thailand Economic Challenges 2019 ปีหมูทองเศรษฐกิจไทยไปต่อ?" ที่โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน หรือที่เราเรียกว่าเป็น disruption การปฏิรูปเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่พอ ถ้าเราต้องการที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 นั้น เราจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยน หรือเรียกว่า transformation แล้วจะต้องเป็นการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง ปรับเปลี่ยนในเชิงยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศ เมื่อโลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ แต่ประเด็นสำคัญก็คือว่าเรากำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่ เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งจากนี้ไปจะเป็นตัวชี้ชะตาชีวิตของประเทศ ว่าเราจะช่วยกันกำหนดอนาคตประเทศของเราอย่างไร เราจำเป็นจะต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่จะนำพาพวกเราไปสู่โลกในศตวรรษที่ 21 อย่างสมศักดิ์ศรีได้อย่างไร

โจทย์นี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำให้ประเทศไทยสงบ ทำให้เกิดเสถียรภาพ ทำให้เกิดเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว แล้วก็นำมาสู่ความเชื่อมั่นของต่างประเทศ แต่จุดสำคัญจากนี้ไปคือความต่อเนื่องของโมเมนตัมของการเจริญเติบโต เราต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่จะชี้นำประเทศไทย

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคตจะต้องตอบโจทย์ 3 ประการ คือ จะต้องเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่ทำให้เราแข่งขันได้มากกว่าเดิม จะต้องเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่ให้โอกาสที่เท่าเทียมกับทุกคน และจะต้องเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะไปตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องมีการลงทุนเพื่ออนาคตครั้งใหญ่ คือ Digital Transformation พร้อมๆ กับเรื่องของการสร้างขีดความสามารถเชิงเทคโนโลยีของเราให้เปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่โลกที่ 21 พร้อมกับเขา

นี่คือสิ่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ว่าทำไมใน 4 ปีที่ผ่านมาเราจึงขับเคลื่อน Thailand 4.0 และนี่คือรูปธรรมของ Thailand 4.0 เพื่อเตรียมการประเทศไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 เราผลักดันทั้งหมด 13 เรื่องด้วยกัน ไล่ตั้งแต่เรื่องของ Startup nation ณ วันนี้ เราเริ่มฟูมฟักสตาร์ทอัพขึ้นมา 2-3 พันราย แต่ไม่พอ สตาร์ทอัพเหล่านี้จะเป็นตัวที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ และใช้แปลงออกมาเป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพวกเรา เชื่อว่ารัฐบาลต่อไป ไม่ว่าจะใครมาก็ตาม จะสานต่ออย่างไร

การใช้อาชีวศึกษาเป็นพลังสร้างชาติ สร้างสังคมที่นวัตกรรมส่วนหนึ่งมาจากสิ่งประดิษฐ์ ที่มาจากการคิดค้นต่างๆ ของทักษะที่ใช้พลังฝีมือของอาชีวศึกษา เราจะทำให้มันเกิดในระดับหนึ่งแล้ว เราจะสานต่อไปอย่างไร ในส่วนต่อมาก็คืออนาคตของประเทศ คือคน เราต้องสร้าง Career for the future เราจำเป็นจะต้องมี Data Scientist เราจำเป็นจะต้องมีนัก Technologist ต่างๆ ที่จะสามารถเป็นอาชีพแห่งอนาคต ตรงนี้ต้องคิดดักหน้าตั้งแต่ว่าอนาคตจะสร้างอาชีพอะไรเพื่อที่จะไปปรับมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะไปปรับอาชีวศึกษา ให้สอดรับในการผลิตคนตามที่เราต้องการ นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะไปตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรม 10 S-Curve ของประเทศ เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการสร้างความมั่งคั่งเพื่อความยั่งยืนแห่งอนาคต ภายใต้สิ่งที่เราเรียกว่า Thailand 4.0 ณ เราได้ผลักดันจนกระทั่งเกิดเป็นรูปธรรมอยู่ไม่น้อย ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น การลงทุนทางด้านการวิจัยของประเทศเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จาก 6 แสนล้าน ไปสู่ 1.7 ล้านล้าน

วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 เราจึงขับเคลื่อน Thailand 4.0 มาจนถึงระยะนี้ แต่ไม่พอ จะต้องรักษาโมเมนตัมต่อเนื่อง ในการที่จะทำให้ 13 เรื่องเกิดความต่อเนื่องขึ้นมา เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ก็ต้องฝากไว้ที่ว่ารัฐบาลชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้งนั้นจะเป็นอย่างไร แต่นี่คือสิ่งที่พวกเราสามารถกำหนดอนาคตประเทศไทยตั้งแต่วันนี้ด้วยกัน

คำต่อคำ : นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในงานสัมมนา "KrungThai Next Thailand Economic Challenges 2019 ปีหมูทองเศรษฐกิจไทยไปต่อ?"

ท่านผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ท่านผู้บริหารเครือผู้จัดการ ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน วันนี้เราทราบดีว่าโลกไม่ใช่ใบเดิมอีกต่อไป เรากำลังอยู่ในโลกที่มีความสุดโต่ง เมื่อกี้ท่านสมคิดก็ได้พูดถึงความสุดโต่งทางเศรษฐกิจ ใครจะคิดว่าจะเกิดสงครามทางการค้าขึ้นระหว่างจีนกับอเมริกา และมีผลกระทบต่อพวกเราในที่สุด

เรากำลังอยู่ในโลกที่สุดโต่ง ทั้งเรื่องธรรมชาติ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง และเรื่องต่างๆ มากมาย และเรากำลังอยู่ในโลกที่มันย้อนแย้งด้วย โลกในศตวรรษที่ 21 นั้น มีหลายสิ่งหลายอย่าง กติกาเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยเป็นกฎ กลายเป็นข้อยกเว้น หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยเป็นข้อยกเว้นกลายเป็นกฎใหม่ เพราะฉะนั้นเราจะปรับตัวกันอย่างไร แต่ที่สำคัญ โลกในศตวรรษ 21 ที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่อยากจะมาหารือ มาคุยกันในวันนี้ ก็คือเรากำลังอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน หรือที่เราเรียกว่าเป็น disruption

กล่าวง่ายๆ ถ้าเราใช้คำของภาษาทหาร ก็บอกว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในบรรยากาศของโลกที่เราเรียกว่า VUCA

V ก็คือ Volatility ก็คือว่ามันมีความผันผวนเร็วมาก เปลี่ยนแปลงเร็วมาก U ก็คือ Uncertainty ก็อย่างที่เมื่อกี้ท่านอุตตม ท่านอาจารย์สมคิด ก็ได้พูด ก็คือเราอยู่ในโลกที่มีความไม่แน่นอน ผันผวนและไม่แน่นอน C คือ Complexity ก็คือมันอยู่ในโลกที่มีความซับซ้อน ไม่แน่นอน แล้วยังซับซ้อน และสุดท้ายคือ A : Ambiguity คือโลกที่มันกำกวม เราไม่รู้ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นมา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาในวันนี้จะส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร เพราะฉะนั้นนี่ตือสิ่งที่เรากำลังเป็นอยู่ นี่คือโลกในอนาคตที่ใกล้ตัวเราเหลือเกิน เป็นเช่นนี้

ดังนั้นสิ่งที่ผมมาพูดในวันนี้จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่มันไกลตัว แต่มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา เพราะฉะนั้นเรื่องของการปฏิรูปเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่พอ ถ้าเราต้องการที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 นั้น เราจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยน หรือเรียกว่า transformation ไม่ใช่แค่ reformation อีกต่อไป แล้วจะต้องเป็นการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง เป็นการปรับเปลี่ยนในเชิงยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศ เพราะฉะนั้นประเด็นท้าทายของประเทศไทยก็คือว่า เมื่อโลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ แต่ประเด็นสำคัญก็คือว่า เรากำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่ เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งจากนี้ไปจะเป็นตัวชี้ชะตาชีวิตของประเทศ ว่าเราจะช่วยกันกำหนดอนาคตประเทศของเราอย่างไร เราจำเป็นจะต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่จะนำพาพวกเราไปสู่โลกในศตวรรษที่ 21 อย่างสมศักดิ์ศรีได้อย่างไร

ผมมีโอกาสไปที่อิสราเอลเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีโอกาสฟัง vision ของนายกรัฐมนตรีเบนยามิน เนทันยาฮู ท่านพูดเพียงแค่ไม่เกิน 15 นาที ท่านบอกว่าประเทศอิสราเอลนั้นเป็นประเทศที่อยู่ท่ามกลางประเทศที่ไม่เป็นมิตรนัก ดังนั้น สิ่งที่อิสราเอลจะอยู่รอดได้ ก็คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ วันนี้ อิสราเอลได้มีส่วนในการรังสรรค์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ได้เพียงแค่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อโลก นำไปสู่นวัตกรรมต่างๆ มากมาย แต่สิ่งที่น่าประทับใจของท่านที่พูดในวันนั้นก็คือว่า ณ วันนี้ วิทยาศาสตร์ซึ่งถือว่าเป็นบ่อน้ำสำคัญนั้น สำหรับอิสราเอลถือว่าเหือดแห้งแล้ว เทคโนโลยีที่พรั่งพรูมาจากวิทยาศาสตร์นั้น ถูกเอาไปใช้ในเซกเตอร์ต่างๆ ไม่ว่าจะทางด้านการศึกษา การแพทย์ เรื่องของในทางธุรกิจมากมาย อิสราเอลจำเป็นจะต้องหาบ่อน้ำใหม่

ท่านประกาศวิสัยทัศน์ว่า อิสราเอลจะต้องไปสู่ Quantum Computing ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อที่จะทำให้เกิดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชุดใหม่อีกชุดหนึ่ง ไม่ใช่สำหรับอิสราเอลเท่านั้น แต่สำหรับระดับโลก

นี่คือวิสัยทัศน์ของผู้นำที่ผมคิดว่าเราจำเป็นจะต้องมีในการที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศในโลกที่ 1 ในศตวรรษจากนี้ไป

เพราะฉะนั้น คำถามง่ายๆ เราจะช่วยกันออกแบบอนาคตประเทศไทยได้อย่างไร ผมคิดว่าสิ่งสำคัญ สิ่งที่รัฐมนตรี ตั้งแต่ท่านรองนายกมนตรีพูดมา จนถึงท่านสนธิรัตน์ เราไม่เปลี่ยนไม่ได้ คำถามคือ คนในประเทศไทย หรืออย่างพวกเรามี willing to change คือมีความตั้งใจจะเปลี่ยนไหม รู้ไหมว่าต้องเปลี่ยน แล้วมีความตั้งใจจะเปลี่ยนไหม แต่แม้กระทั่งว่ามีความตั้งใจจะเปลี่ยน อย่างเดียวยังไม่พอนะ ต้องถามต่อ มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ คือ ability to change ด้วย เพราะฉะนั้นโจทย์นี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผมจะเรียนว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่านนายกฯ ประยุทธ์ เราได้ทำให้ประเทศไทยนั้นสงบ จากความสงบ ทำให้เกิดเสถียรภาพ จากเสถียรภาพทำให้เกิดเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว อย่างที่ท่านสมคิดได้พูดไว้ แล้วก็นำมาสู่ความเชื่อมั่นของต่างประเทศ แต่จุดสำคัญจากนี้ไปคือความต่อเนื่อง momentum ของ growth จะเป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญที่สุด เราต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่จะชี้นำประเทศไทย เฉกเช่นเดียวกับผู้นำอิสราเอลในอนาคตได้อย่างไร

ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่พวกเราจะต้องตระหนัก และเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ก็คือเรื่องของ Transformation มันมี 3 ระดับของ Transformation ระดับที่ 1 ก็คือ เราจำเป็นต้อง ถึงเวลาที่จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ เราเรียกว่าปฏิรูปเศรษฐกิจ เราเรียกว่าปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อไปรับกับศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไร เมื่อกี้นี้เราได้ยินได้ฟังท่านอุตตม ท่านก็ได้พูดถึงเรื่องของ Industry Transformation พูดถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมภายใต้ 10 S-Curve มันมี 5 S-Curve หลักเก่าที่เราจำเป็นจะต้องยกระดับ อัปเกรดมันขึ้นมาเพื่อทำให้มัน competitive แต่พร้อมกันนั้นมันมีอีก 5 S-Curve ที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต แต่ทั้งหมดนี้ Industry Transformation เพียงอย่างเดียวไม่พอ สิ่งที่ท่านสมคิดย้ำนักย้ำหนา ก็คือเรื่องของ Digital Transformation

ผมอยากเรียนอย่างนี้ว่า โลกในศตวรรษที่ 21 เราจำเป็นจะต้องมีเป้าหมายในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ชัดเจน โครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคตจะต้องตอบโจทย์ 3 ประการ ดังต่อไปนี้ 1. จะต้องเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่ทำให้เราแข่งขันได้มากกว่าเดิม คือ Competitive แต่ 2. จะต้องเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่ให้โอกาสที่เท่าเทียมกับทุกคน คือ Inclusive แต่ที่สำคัญ มันจะต้องเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะไปตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงหรือพลวัตรของโลกได้ คือ Responsive เพราะฉะนั้นโจทย์นี้จึงเป็นโจทย์ยาก

หลังจากที่มีเลือกตั้ง ทุกคนเริ่มเชื่อว่าอาจจะต้องมีรัฐบาลผสม มันอยู่ที่พวกเราว่าเราจะเลือกใคร เลือกอย่างไร ถ้าเราได้รัฐบาลที่ไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะทำให้เกิด momentum of growth อย่างต่อเนื่อง เพื่อไปตอบโจทย์ 3 ข้อ ก็คือการสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการแข่งขัน พร้อมกับสร้างโอกาสที่เท่าเทียม บนความสามารถที่จะตอบรับกับพลวัตโลกได้ล่ะก็ เหนื่อยนะครับ ผมเรียนว่าเหนื่อยนะครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือ Digital Transformation นั้น ณ วันนี้ พวกเราก็คงทราบ เรากำลังไต่คลื่นของการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Digital Curve ตอนนี้มันอยู่ใน curve ที่ 7 แล้ว curve ตั้งแต่แรกที่เรื่องเมนเฟรม ไปสู่เรื่องของการมีเซิร์ฟเวอร์ ไปสู่เว็บ 1.0 ไปสู่เว็บ 2.0 ไปสู่ Big Data ไปสู่เรื่องของ IOT หรือ Internet of Things และ Machine Learning ณ วันนี้ คือสิ่งที่ท่านสมคิดพูดเมื่อกี้นี้เอง ก็คือมาสู่โลกของ Artificial Intelligent อย่างสมบูรณ์แล้ว

ณ วันนี้ เราจะต้องอยู่กับ Artificial Intelligent หรือปัญญาประดิษฐ์ ถ้าบริษัทไหน องค์กรไหน หรือการศึกษาของไทย ไม่มีเรื่องของ AI เข้ามาเกี่ยวข้อง เราจะเกิดความล้าหลังขึ้นมาทันที นี่คือความน่ากลัวที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าเราไม่สามารถที่จะประคองการเมืองที่ดี เพื่อไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ท้าทายจากนี้ไป

แต่เรื่องที่สำคัญที่สอง นอกเหนือจากเรื่องของ Digital Transformation จริงๆ แล้ว Digital Transformation เพื่อนำพาไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นฐานข้อมูลอย่างสมบูรณ์ หรือที่เราเรียกว่า Data Economy and AI แต่ทั้งหมดนี้ อนาคตโลกมันขับเคลื่อนบนแพลตฟอร์มของดิจิทัล แต่พร้อมๆ กับการขับเคลื่อนบนแพลตฟอร์มของดิจิทัลนั้น มันมีการสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงที่สุด จะต้องมาจากการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่แปลงออกมาเป็นนวัตกรรมให้ได้

เพราะฉะนั้น เรื่องที่เราเคยได้ยินได้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นก้อนว่าด้วยเรื่อง BioTech หรือในอนาคตประเทศไทยนอกจากเรื่องของการแพทย์ นอกจากเรื่องของ BioTech นอกจากการแพทย์การเกษตรเรื่อง BioTech แล้ว มันมีเรื่อง NeuroTech แต่มันมีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นเรื่องของระบบ Intelligence สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Internet of Things ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Virtual หรือ Augmented Reality นั้น กลายเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งในระบบธุรกิจของเรา จำเป็นจะต้องเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว การเกษตร หรืออุตสาหกรรมภาคการผลิต แต่ไม่เพียงเท่านั้น โลกในอนาคตคือโลกของพลังงาน เพราะฉะนั้น พลังงาน Energy Capture ไล่ไปจนถึงเรื่อง transmission ไล่ไปจนถึงเรื่องของ Space Technology อนาคตเขาจะแข่งกันที่ space เป็นสำคัญ

นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องมีการลงทุนเพื่ออนาคต หรือ Investment for the future ครั้งใหญ่ ถ้าเราไม่สามารถที่จะจับเทคโนโลยีต่างๆ ที่ผมลิสต์มาไว้แล้ว เหนื่อยนะครับ สำหรับประเทศไทย เพราะฉะนั้นนี่คือสองชุดใหญ่ คือ Digital Transformation พร้อมๆ กับเรื่องของการสร้างขีดความสามารถเชิงเทคโนโลยีของเราให้เปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่โลกที่ 1 พร้อมกับเขา

Economic Transformation จึงเป็นเรื่องที่หลากหลายเหลือเกิน ตั้งแต่เรื่องของ Industry Transformation, Digital Transformation แต่จุดสุดท้ายมันต้องไปลงที่ตัวธุรกิจ ธุรกิจ ณ วันนี้ เราเห็นการถูก disrupt เกือบทุกวงการ กูเกิลไป disrupt ระบบโฆษณาทั้งหมด เราเห็นยูทูปไป disrupt ธุรกิจสื่อ เราเห็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ ไป disrupt เรื่องของเครือข่ายการสื่อสาร เราเห็นอูเบอร์/แกร็บ ไป disrupt ระบบการขนส่ง เราเห็น LAZADA ไป disrupt ระบบ retail แม้กระทั่งเทสล่า รถยนต์ EV ไป disrupt ระบบพลังงานทั้งระบบเลย

นี่คือความน่ากลัว มันเป็นทั้งโอกาสและเป็นทั้งภัยคุกคามในเวลาเดียวกัน ถ้าประเทศไทยไม่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเพียงพอ แล้วถ้าไม่มีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนเพียงพอ เพื่อจะไล่กวดตามให้ทัน เราจะกลายเป็นผู้ถูก disrupt แต่ถ้าเราไล่กวดทัน เราจะกลายเป็นคนที่ไป disrupt ชาวบ้าน ผ่าน innovation หรือนวัตกรรมที่จะสร้างขึ้นมาอีกมากมาย

เพราะฉะนั้นเมื่อกี้ที่ท่านสนธิรัตน์ หรือท่านอุตตม หรือท่านสมคิด เรามาถึงจุดที่ธุรกิจจากนี้ไปไม่ใช่ product หรือ service ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการ เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เราต้องทำให้เอสเอ็มอีไทย ต้องทำให้สตาร์ทอัพไทย ต้องทำให้พวกเรานั้นคิดถึง business ในลักษณะที่เป็นแพลตฟอร์ม business มากขึ้น ต้องทำอย่างไรที่จะทำให้พวกเรานั้น ไม่ว่าจะอยู่ในวงการไหน เข้าใจว่าจากนี้ไปเราแยกไม่ออกหรอกครับ ระหว่าง cyber กับ physical space ต้องทำอย่างไรที่จะทำให้สตาร์ทอัพของเราในอนาคตเกิดขึ้นมามากมาย ให้โอกาสเขา ให้การเติบโตกับเขา บางส่วนเก่งจริง จะเป็นยูนิคอร์น ไปเลย ไปเป็นยูนิคอร์น แต่บางส่วนจะต้องกลายเป็น local start-up เพื่อจะเป็นพลังในการขับเคลื่อน local economy อย่างที่ท่านสนธิรัตน์ได้พูดไว้ นั่นคือเรื่องที่สอง ต่อจาก Economic Transformation

จิ๊กซอว์ต่อไปก็จะเป็นเรื่องของ Business Transformation แต่จุดสุดท้ายที่สำคัญคือ คน เพราะศตวรรษที่ 21 นั้น ขับเคลื่อนด้วยสองสิ่งเท่านั้น คือ ปัญญา และเทคโนโลยี ปัญญามาจากคน เมื่อคนมีปัญญา มันจะผลิตเทคโนโลยีเอง ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือว่า เราจำเป็นจะต้องมีรัฐบาลใหม่ที่แข็งแรง ที่มีวิสัยทัศน์เพียงพอที่จะชี้นำว่า Career for the future หรืออาชีพของพวกเราในอนาคต ของเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ในอนาคตควรเป็นอย่างไร พวกเรามีโอกาสตกงานอยู่แล้ว แต่เราจะ retrain พวกเรา จะ reskill พวกเรา เพื่อจะทำให้พวกเราสามารถอยู่ได้ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไร อายุของพวกเราจะยาวขึ้น เพราะฉะนั้นต้องทำงานยาวขึ้นแน่ๆ เพราะไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีเงินที่จะจุนเจืออย่างแน่ๆ เพราะว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว จากการที่เรามี stages of live หรือชีวิตมันมีแค่ 3 ช่วงชีวิต คือ ช่วงเรียน ช่วงทำงาน และช่วงเกษียณ เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ เดี๋ยวนี้เป็น multi stages เรียนเสร็จ ต้องไปทำงาน ทำงานเสร็จต้องไปถูกเรียนใหม่เพื่อ reskill แล้วบางทีไปพักบ้าง พักแล้วก็กลับมาทำงานใหม่อยู่ตลอดเวลา เราจำเป็นจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน มีรัฐบาลที่มองการณ์ไกล และแข็งแรงเพียงพอที่จะสามารถชี้นำประเทศไปสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้

เพราะฉะนั้นตรงนี้คือเรื่องต่างๆ ที่แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องเปลี่ยนใหม่หมด มหาวิทยาลัยเกือบครึ่งหนึ่งปิดทิ้งได้เลย ผมเรียนพวกเราให้ทราบเลย มหาวิทยาลัยในอนาคตต้องทำให้สามารถเกิด deep learning คือการที่สามารถทำให้คนนั้น เยาวชนนั้น หรือนักศึกษานั้น มี head มี heart และมี hand ในเวลาเดียวกัน ถ้าไม่มี deep learning คุณจะไป DeepTech ได้อย่างไร เมื่อไม่มี DeepTech คุณจะไปมี Deep Innovation ได้อย่างไร นี่คือสิ่งต่างๆ ของการเปลี่ยนแปลง

นี่คือสิ่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ว่าทำไมใน 4 ปีที่ผ่านมา เราจึงขับเคลื่อน Thailand 4.0 และนี่คือรูปธรรมของ Thailand 4.0 เพื่อเตรียมการประเทศไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 เราผลักดันทั้งหมด 13 เรื่องด้วยกัน ไล่ตั้งแต่เรื่องของ Startup nation เราต้องการให้ประเทศไทยนั้นไม่ใช่เป็นมนุษย์เงินเดือนอีกต่อไป ไม่ใช่เอสเอ็มอีแบบ Traditional SMEs อีกต่อไป แต่ต้องเป็น Startup Nation ณ วันนี้ เราเริ่มฟูมฟักสตาร์ทอัพขึ้นมา 2-3 พันราย แต่ไม่พอหรอกครับ ประเทศต้อง drive โดยสตาร์ทอัพ แต่สตาร์ทอัพเหล่านี้จะเป็นตัวที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ และใช้แปลงออกมาเป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพวกเรา

สตาร์ทอัพคือหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลนี้ ซึ่งผมเชื่อว่ารัฐบาลต่อไป ไม่ว่าจะใครมาก็ตาม จะสานต่ออย่างไร

เรื่องที่สอง เรามีอาชีวะเยอะแยะ เรามีเด็กที่เก่งในเรื่องของการใช้ทักษะ แต่เราไม่ให้โอกาสเขา เรามองอาชีวะเป็นแบบหนึ่ง ขณะที่เยอรมนี หรือญี่ปุ่น ให้ค่าอาชีวะมากมาย เพราะฉะนั้นในโลกที่มีเทคโนโลยีอย่าง AI มีโลกที่มีเรื่อง Internet of Things อาชีวะเหล่านี้คือพลังสร้างชาติ นี่คือ Makers Nation นี่คือการสร้างสังคมที่นวัตกรรมส่วนหนึ่งมาจากสิ่งประดิษฐ์ ที่มาจากการคิดค้นต่างๆ ของทักษะที่ใช้พลังฝีมือของอาชีวศึกษา เราจะทำให้มันเกิดในระดับหนึ่งแล้ว เราจะสานต่อไปอย่างไร

ในส่วนต่อมาก็คืออนาคตของประเทศ คือคน เพราะฉะนั้นเราต้องสร้าง Career for the future เราจำเป็นจะต้องมี Data Scientist เราจำเป็นจะต้องมีนัก Technologist ต่างๆ ที่จะสามารถเป็นอาชีพแห่งอนาคต ตรงนี้ต้องคิดดักหน้าตั้งแต่ว่าอนาคตจะสร้างอาชีพอะไรเพื่อที่จะไปปรับมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะไปปรับอาชีวศึกษา ให้สอดรับในการผลิตคนตามที่เราต้องการ

ต่อมา เรามองว่าเรื่องของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมันไม่ใช่เรื่องไกลตัว มันต้องตอบโจทย์สังคมให้ได้ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ดี มันจะต้องเป็นวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ผนึกกำลังเข้ากันกับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่จะตอบโจทย์คุณค่าของความเป็นมนุษย์ เป็น Arts and Science of Living เป็น Arts and Science of Working เป็น Arts and Science of Learning ได้ รวมถึงการที่เราพูดถึงวิทยาศาสตร์เพื่อชุมชน นี่คือสิ่งที่ไปตอบรับกับ Local Economy ของท่านสนธิรัตน์ ว่าเทคโนโลยีในระดับที่เขาเรียกว่า approximate technology คือเทคโนโลยีที่มันไม่ได้ยาก แต่สามารถที่จะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถเอาไปใช้ในวงการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Internet of things ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจับ GPS ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Geo Informations อย่างนี้เป็นต้น

นี่คือสิ่งต่างๆ ที่เราเริ่มผลักดันไปในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แล้วเราจะสานต่ออย่างไร รวมไปจนถึงเรื่องของ Big Data

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นั้น ได้มีเรื่องของดาวเทียม เพราะฉะนั้นเรามี Big Data ในเรื่องที่เกี่ยวกับภูมิสารสนเทศอยู่แล้ว เรามีสารสนเทศทางด้านน้ำที่สามารถตอบโจทย์ในความต้องการบริหารน้ำ ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ในแต่ละพื้นที่ได้ แต่ที่สำคัญเราทำ map อันหนึ่งที่เรียกว่า TPMAP คือ map ที่สามารถซูมลงไปวิเคราะห์เอา Big Data ของคน โดยเฉพาะของคนที่ด้อยโอกาส มาวิเคราะห์ว่าความยากจนในระดับตัวบุคคลอยู่ที่ไหน ในอนาคตเราจะทำ personalize welfare ก็คือสวัสดิการรายคน ว่าคนๆ นี้มีปัญหาเรื่องอะไร จะต้องตอบโจทย์เขาอย่างไร บางทีเขาไม่ได้มีปัญหาส่วนตัว แต่เขามีปัญหาครอบครัว ในเรื่องของพ่อแม่ติดเตียง เรามี information ถึงระดับนั้น เพื่อที่จะตอบโจทย์เขา และสามารถที่จะยกให้เขากลายเป็นพลังของประเทศในอนาคตให้ได้

ในเรื่องของ Infrastructure ขนาดใหญ่ ประเทศต้องแข่งกับโลก เพราะฉะนั้นเรามีซิงโครตรอน เรามีเรื่อง Fusion Technology ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานสะอาด ส่วนนี้คือสิ่งที่เราไม่นิ่งนอนใจ แม้ว่าจำเป็นจะต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ แต่เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตในการที่จะไปตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

เรากำลังพูดถึงการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อย่างที่ท่านอุตตม ได้พูดไว้ ว่าเราจะไปตอบโจทย์ 10 S-Curve ของประเทศได้อย่างไร ที่สำคัญก็คือ บริเวณที่เราเรียกว่าเป็นแพลตฟอร์มในการสร้างความมั่งคั่งเพื่อความยั่งยืนแห่งอนาคต ที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูดอยู่เสมอ คือ BCG B คือ Bio Economy , C คือ Circular Economy และ G คือ Green Economy

BCG นั้นจะกลายเป็นพลังที่สำคัญ เพราะมัน capture ไว้ทั้งหมด 5 S-Curve จาก 10 S-Curve ทั้งหมด มันสามารถทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 18 ล้านคน มันสามารถที่จะทำให้เกิดจีดีพีเพิ่มขึ้นมากว่า 4.7 ล้านล้านบาท นี่คือสิ่งที่เราจะต้องเติมเต็มลงไปด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อยกระดับเกษตรของเรา อาหารของเรา การแพทย์ของเรา พลังงานของเรา และการท่องเที่ยวของเรา ซึ่งทั้ง 4 เซกเตอร์นี้อยู่ภายใต้ BCG ให้สามารถที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเติมเต็มมันลงไปด้วยเรื่องของเทคโนโลยี เรื่องของปัญญามนุษย์อย่างไร

เรากำลังพูดถึงเรื่องของ Smart Farmer ว่าในอนาคตเกษตรกรในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เรื่องของ Big Data เรื่องของโดรน เรื่องของ Internet of Thing จะต้องกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวของเขา ณ วันนี้ มันก็ใกล้เคียงในจุดนั้นอยู่แล้ว ในอนาคตเรากำลังพูดถึงเรื่องของเกษตรแม่นยำ เฉกเช่นเดียวกับที่เรากำลังพูดถึงเรื่องของการแพทย์แม่นยำ

เรื่องต่อมาคือเรื่องของการกระจายโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผมเรียกว่าโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ให้ออกจากกรุงเทพฯ เพื่อไปอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุทยานวิทยาศาสตร์ใน 4-5 ภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Food Innopolis ที่จะไปอยู่ที่ มอ. มข. มก. ที่เราจะพูดถึงเรื่องการแพทย์ ซึ่ง ณ วันนี้ เราเพิ่งจะเปิดตัวย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ซึ่งเป็นย่านนวัตกรรมที่มีโรงพยาบาลเกือบ 10 โรง มีคณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ มีศูนย์บริการทางการแพทย์ กระจุกตัวอยู่ในย่านที่เราเรียกว่าย่านโยธี แถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่ ณ วันนี้ เรากำลังจะทำให้ Medicopolis เกิดขึ้นในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นที่ขอนแก่น ไม่ว่าจะเป็นที่สงขลา อย่างนี้เป็นต้น

รวมถึงเรื่องที่เป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่ท่านสมคิดได้พูดไว้ และท่านอุตตมได้เสริมไป ก็คือเรื่องของ อีอีซีไอ (EECi) ก็คือเรื่องของ Eastern Economic Corridor of Innovation ซึ่งเป็นบริเวณที่เราจะเอาการวิจัยและนวัตกรรมสูงสุดของโลกมาอยู่กับเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Biopolis ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Intelligence System ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Space Innovation อย่างนี้เป็นต้น

นี่คือทั้งหมดของจิ๊กซอว์ตัวสำคัญทั้ง 13 เรื่อง ภายใต้สิ่งที่เราเรียกว่า Thailand 4.0 ณ วันนี้ เราได้ผลักดันจนกระทั่งเกิดเป็นรูปธรรมอยู่ไม่น้อย ต้องเรียนว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น การลงทุนทางด้านการวิจัยของประเทศเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จาก 6 แสนล้าน ไปสู่ 1.7 ล้านล้าน

R&D คือการวิจัยและการพัฒนา ต่อจีดีพีนั้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 2 เท่า จาก 0.5% ของจีดีพี ขึ้นมาเป็นเกือบ 1% ของจีดีพี แต่ยังห่างไกลจากประเทศ OECD ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3-4% เราต้องไปถึงจุดนั้นให้ได้

เรามีการลงทุนในภาคเอกชนทางด้านวิจัยและพัฒนาในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัว จาก 3 หมื่นกว่าล้าน เป็น 1.2 แสนล้าน และสัดส่วนการลงทุนของ R&D ในภาคเอกชนนั้น เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยถึง 3.4 เท่า คือจาก 0.22% ต่อจีดีพี ในปี 56 ขึ้นมาเป็น 0.75% ต่อจีดีพี ในปี 61 คือปีที่แล้วนั่นเอง แต่ที่สำคัญ ตัวเลขต่างๆ ความมุ่งมั่นของรัฐบาลชุดนี้ในการที่จะเชื่อว่าเราจะต้อง transfomr ประเทศไทยไปสู่โลกที่ 1 ผ่านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น มันเลยเป็นผลทำให้ index ตัวที่สำคัญตัวหนึ่งที่บ่งบอกว่าเป็น Innovation Economy หรือไม่ มีการขยับขึ้นอย่างมีนัย ในปี 2558 นั้น เราถูกจัดอันดับในเรื่องของความสามารถในปัจจัยเชิงนวัตกรรมนั้น ขยับขึ้นมาถึง 16 อันดับ จากอันดับที่ 67 ในปี 58 มาสู่อันดับที่ 50 ในปี 61

เพราะฉะนั้นนี่คือทั้งหมดของสิ่งที่ผมอยากจะกราบเรียนกับพวกเราว่า วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 เราจึงขับเคลื่อน Thailand 4.0 มาจนถึงระยะนี้ แต่ไม่พอหรอกครับ มันจะต้อง keep momentum เฉกเช่นเดียวกับ Momentum of Growth มันจะต้องมีการ momentum ในการที่จะทำให้ 13 เรื่อง ที่ผมได้เรียนไว้ เกิดความต่อเนื่องขึ้นมา เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ก็ต้องฝากไว้ที่ว่า รัฐบาลชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้งนั้นจะเป็นอย่างไร แต่นี่คือสิ่งที่พวกเราสามารถกำหนดอนาคตประเทศไทยตั้งแต่วันนี้ด้วยกัน ขอบคุณมากครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น