xs
xsm
sm
md
lg

ผ่า 4 ปี คมนาคม อัดงบกว่า 2 ลล.ปั้นเมกะโปรเจ็กต์ วาง Action Plan 62 ทิ้งทวน”คสช.  “

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผ่า 4 ปี คมนาคม ทุมงบกว่า 2 ลล. ปั้นเมกะโปรเจ็กต์   อัดยาแรงแก้จราจร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์  ทิ้งทวน โค้งสุดท้ายรัฐบาล “คสช.” ครม.”ประยุทธ์” เทกระจาด Action Plan ปี 62  จำนวน 41 โครงการ มูลค่า 1.77 ลล. เร่งงานตกค้างจัดไทม์ไลน์ ชงครม.อนุมัติ เปิดประมูล
 
 กระทรวงคมนาคม ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย 8 ปี (พ.ศ. 2558-2565) มีวงเงินลงทุนรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)  ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการคมนาคมขนส่ง ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศและทางราง อย่างมาก เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะการมีระบบคมนาคมขนส่งที่ดี ช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
           
ในห้วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน (Action Plan)   ปี 2558- 2559 จำนวน 20 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 1.79 ล้านล้านบาท  มีการผลักดันหลายโครงการที่เคยหยุดชะงัก ให้เกิดการขัดเคลื่อน และอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน   
         
โดย ต่อยอดแผนงาน ผลักดันโครงการให้ต่อเนื่อง ภายใต้ Action Planปี  2560 ที่มี 36 โครงการ วงเงินลงทุน 895,757.55 ล้านบาท และ Action Plan ปี 2561จำนวน 44โครงการ กรอบวงเงินลงทุน จำนวน 2,021,283.52ล้านบาท ซึ่งได้พิจารณาคัดเลือกโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565และโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลและมีความพร้อมในการดำเนินโครงการ    

เข้าสู่โค้งสุดท้าย ของรัฐบาล คสช.  กระทรวงคมนาคมได้จีดทำโครงการภายใต้  Action Plan ปี  2562 จำนวน 41 โครงการ กรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,778,213.38 ล้านบาท โดยเป็นโครงการใหม่ 12 โครงการ วงเงินลงทุน 5.82 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย กลุ่มโครงการที่คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ  (คนร.) หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ วงเงินรวม 5.5 หมื่นล้านบาท

ได้แก่ โครงการสถานที่บริการทางหลวง บางละมุง มอเตอร์เวย์ ช่วงพัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 620 ล้านบาท  , โครงการที่พักริมทางบนมอเตอร์เวย์  สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 1,486 ล้านบาท, โครงการที่พักริมทางบนมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา วงเงิน 1,579.88 ล้านบาท, โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาบนมอเตอร์เวย์ สาย 7 ช่วงชลบุรี-พัทยา วงเงิน 1,504 ล้านบาท ,โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 35,377.19 ล้านบาท ,โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1  วงเงิน 14,473.31 ล้านบาท

ขณะที่ อีก 5 โครงการ วงเงิน 3,180 ล้านบาท จะเปิดประกวดราคา/คัดเลือกเอกชน/เริ่มก่อสร้าง ได้แก่ โครงการก่อสร้างปรับปรุงท่าเทียบเรือเฟอร์รี่เกาะสมุย วงเงิน 80 ล้านบาท ,โครงการก่อสร้างเพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณท่าเทียบเรือท่าช้าง วงเงิน 60 ล้านบาท และท่าเรือท่าเตียน วงเงิน 40 ล้านบาท ,โครงการพัฒนาสนามบินนครศรีธรรมราช 1,800 ล้านบาท,โครงการพัฒนาสนามบินตรัง วงเงิน 1,200 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมี โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาถนนท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Thailand Southern Riviera) ช่วงชุมพร-สงขลา วงเงิน 9.50 ล้านบาท  

ส่วนอีก 29 โครงการ วงเงินรวม 1.71 ล้านล้านบาท เป็นโครงการที่ตกค้างจาก Action Plan ปี 58-61 ที่ต้องผลักดันต่อเนื่อง. เช่น มอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ,สาย หาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย,ทางยกระดับอุตราภิมุขช่วงรังสิต-บางปะอิน,ทางยกระดับบนทางหลวง หมายเลข 35 สายบางขุนเทียน-ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ,ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต

รถไฟรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่,รถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 2ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย)

รถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ,ช่วงขอนแก่น-หนองคาย,ช่วงขอนแก่น-หนองคาย,ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี,ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ,ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์,ช่วงปากน้าโพ-เด่นชัย,ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่,สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-นครพนม

ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต,โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3   
 
***ไทม์ไลน์ปี62 ชงครม. ประมูล กว่า 3.8 แสนล.

โครงการที่อยู่ในไทม์ไลน์ ชงครม. อนุมัติ และโครงการเร่งประมูลและก่อสร้าง ในปี 62 วงเงินรวม 382,939.73 ล้านบาท

ได้แก่  โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม,ทางด่วนสายพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ,โครงการจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า จานวน 35 คัน พร้อมสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวน 1 แห่ง

รถไฟทางคู่ สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ,รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายาและเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีพระรามหก สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสถานีบ้านฉิมพลี) ,รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ,รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-หัวลาโพง

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ,โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ,โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ ,โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul: MRO)

***แบ่งเค้กเปิดPPP ร่วมทุนกว่า 2 แสนล.

          โดยโครงการ ภายใต้ Action Plan ปี  2562 จำนวน 41 โครงการ วงเงินรวม 1.77 ล้านล้านบาท นั้นจะเป็นการลงทุนโดยใช้ เงินกู้ วงเงินกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ( 67.5%) ,เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) วงเงิน  2.01 แสนล้านบาท (11.3%) , ใช้งบประมาณดำเนินโครงการ    รายได้ของหน่วยงาน 1.85 แสนล้านบาท (10.4%), หน่วยงานใช้รายได้ของตัวเอง ลงทุน 1.06 แสนล้าบาท(6.01%)  , กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (TFF)  3.04 หมื่นล้านบาท (1.71%) ,ใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง  40 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ ยงรอผลการศึกษารูปแบบการลงทุน มูลค่าประมาณ 5.38 หมื่นล้านบาท (3.03 %)
 
  4 ปี ที่ผ่านมา อาจถือเป็นช่วงที่กระทรวงคมนาคม ได้ขับเคลื่อนโครงการได้มากที่สุด โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ ที่เป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานทางราง ที่แทบจะไม่ได้ระบการพัฒนามาเป็นเวลานาน
 


กำลังโหลดความคิดเห็น