xs
xsm
sm
md
lg

“สอน.” คาด 2 สัปดาห์ ครม.เคาะพร้อมให้กองทุนฯจ่ายเงิน รง.น้ำตาล 1.9 หมื่น ล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“สอน” เผย การจ่ายเงินส่วนต่างค่าอ้อยขั้นสุดท้ายฯปี 60/61 ที่ต่ำกว่าขั้นต้นรวมเป็นเงินกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท ที่กองทุนอ้อยฯต้องจ่ายคืนโรงงานน้ำตาลทรายตามกฎหมาย ยัน “กอน.” เห็นชอบแล้ว แต่อยู่ระหว่างเสนอ “ครม.” คาดไม่เกิน 2 สัปดาห์จากนั้น จะประกาศลงราชกิจจาฯ เพื่อจ่ายเงินได้ ขณะที่กองทุนฯรับยังขาดเงินอีก 4,000 กว่าล้าน บ. เล็งขอกู้หรือค้างชำระแล้วนำเงินรายได้อนาคตใช้แทน

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยถึงกรณีที่โรงงานน้ำตาลทราย กังวลถึงปัญหาสภาพคล่องทางการเงินกรณียังไม่ได้รับเงินชดเชยส่วนต่างราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2560/61 ว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เมื่อ 23 พ.ย. ได้พิจารณาเห็นชอบให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จ่ายเงินส่วนต่างราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 60/61 จำนวน 19,310.67 ล้านบาท ให้กับโรงงานน้ำตาลแล้วขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในเกิน 2 สัปดาห์จากนั้นสอน.จะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

“ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เมื่อราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าขั้นต้นกองทุนอ้อยฯต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับโรงงานเท่ากับส่วนต่างดังกล่าว แต่เกษตรกรชาวไร่อ้อยไม่ต้องส่งคืนค่าอ้อยที่ได้รับเกิน ซึ่งฤดูการผลิตปี 60/61 ราคาอ้อยขั้นต้น อยู่ที่ 880 บาทต่อตัน แต่ขั้นสุดท้ายเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 792.74 บาทต่อตัน (ความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.) ดังนั้น ทำให้เกิดส่วนต่างคิดเป็นเงิน 19,310.67 ล้านบาท ซึ่งกองทุนอ้อยฯต้องจ่ายคืนโรงงาน” นายวิฤทธิ์ กล่าว

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงานจำนวน 19,310.67 ล้านบาทนั้น เบื้องต้นกองทุนฯ จะหักกลบลบหนี้กับเงินกู้เสริมสภาพคล่องที่โรงงานกู้จากกองทุนฯ ก่อน จำนวน 5,120 ล้านบาท จึงยังคงเหลือเงินชดเชย 14,190 ล้านบาท และกองทุนฯ จะใช้เงินของกองทุนฯ ที่มีอยู่จ่ายชดเชยโรงงาน จำนวนประมาณ 9,500 ล้านบาท ดังนั้น จะเหลือภาระเงินชดเชยอีกประมาณ 4,690 ล้านบาทเศษ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแหล่งเงินเพื่อการชำระหนี้ โดยคาดว่าจะต้องนำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อพิจารณาหาแหล่งเงินทุนเพื่อชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงานน้ำตาล อาทิ จะขอกู้เงินหรือค้างชำระเงินแล้วนำรายได้ในอนาคตของกองทุนฯ มาชำระหนี้โรงงาน ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยเร็วต่อไป

“กองทุนฯ จะมีรายได้จากการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ กอน. ว่าด้วยการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2561 จำนวน 10,363.73 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาทะยอยชำระหนี้ได้” นายวีระศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น