xs
xsm
sm
md
lg

คค.ถามกฤษฎีกาเคลียร์โอน 4 สนามบิน ติดปม กม.ทรัพย์สินของรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“คมนาคม” ร่อนหนังสือถามกฤษฎีกาเคลียร์ข้อ กม. โอน 4 สนามบินภูมิภาคของ ทย. ให้ ทอท. ตามข้อสั่งการ “นายกฯ” ชี้ สนามบินเป็นทรัพย์สินของรัฐ โอนส่อขัด กม. เหตุ ทอท. เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีต่างชาติถือหุ้นได้  คาดโอนสิทธิ์บริหารแต่ทรัพย์สินยังเป็นของ ทย.  ด้านผู้โดยสารและสายการบิน ไม่มีทางเลือกเตรียมตัวจ่ายค่าบริการเพิ่ม   

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการโอนท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานตาก และ ท่าอากาศยานชุมพร ไปให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการ ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งให้เร่งดำเนินการโอนให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องนั้น

  จากการประชุมคณะกรรมการพิจารณา วิธีการและแนวทางในการปฏิบัติ การโอน 4 สนามบิน ที่มีตนเป็นประธานนั้น ได้พิจารณาในประเด็นระเบียบ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า สนามบิน 4 แห่งของกรมท่าอากาศยาน ถือเป็นทรัพย์สินของรัฐ ขณะที่ปัจจุบัน ทอท. ได้จัดตั้งเป็น บริษัทมหาชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งไม่สามารถโอนทรัพย์สินของรัฐไปให้ ทอท. ดังนั้น อาจจะเป็นการให้สิทธิ์ ทอท. บริหารจัดการสนามบิน 4 แห่ง โดยทรัพย์สินยังเป็นของ ทย.

นอกจากนี้ สนามบินบางแห่ง ทย. ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ของกองทัพอากาศในการดำเนินการก่อสร้างและบริหาร ซึ่งหากจะเปลี่ยนไปให้ทอท.บริหาร จะต้องทำหนังสือแจ้งกองทัพ ตามขั้นตอนด้วย

  นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เพื่อความรอบคอบ กระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือถึงกฤษฎีกา เพื่อสอบถามความเห็นในข้อกฎหมายแล้ว ซึ่งคาดว่าจะได้รับคำตอบในเดือน ธ.ค. นี้ นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาประเด็นเงื่อนไขในการบริหารสนามบิน 4 แห่งด้วย เช่น การกำหนดอัตราค่าบริการต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดภาระต่อผู้ประกอบการสายการบิน และผู้โดยสาร ซึ่งคณะกรรมการจะสรุปข้อมูลเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า การโอนสนามบินของ ทย. 4 แห่งให้ ทอท. นั้น ขณะนี้ยังมีข้อกังวล ในประเด็นข้อกฎหมายหลายเรื่อง ซึ่งจะต้องหาความชัดเจน ก่อนเสนอ ครม. เพราะที่ดินและทรัพย์สินเป็นของราชการ จึงมีการสอบถามกฤษฎีกา กรณีสถานภาพ ของ ทอท. ที่ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% เหมือนเดิมแล้ว เนื่องจาก ทอท. มีการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มีเอกชนถือหุ้น 30% และในส่วนของเอกชนนี้เป็นนักลงทุนต่างชาติถึง 20%  จะดำเนินการอย่างไร

ซึ่งประเด็นทางกฎหมายยังมีข้อจำกัด การดำเนินการทุกอย่างต้องมีกฎหมายรองรับ นอกจากนี้ พระราชกำหนด แก้ไข เพิ่มเติม พระราชบัญญัติ ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 พ.ศ. 2558 ให้ตั้งกรมท่าอากาศยาน ซึ่งจะบอกหน้าที่ของกรมท่าอากาศยาน เช่น ศึกษาความเหมาะสม เป็นไปได้ในการมีสนามบินใหม่ ทำการก่อสร้าง และบริหาร   มีท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 28 แห่ง หากจะต้องลดลง ไป 4 แห่ง ต้องมีข้อกฎหมายรองรับ ว่า ทย. ไม่ต้องทำสนามบิน 4 แห่งดังกล่าว

  อย่างไรก็ตาม กรณีที่ให้ ทอท. บริการสนามบิน 4 แห่งของ ทย. นั้น ยังพบข้อกังวลที่อาจกระทบต่อประชาชนและทำให้ประเทศเสียหายได้ เช่น ผู้โดยสารจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (PSC) สนามบินของ ทย. ซึ่งเป็นของรัฐ เส้นทางในประเทศ 50 บาท ระหว่างประเทศ 400 บาท ขณะที่ ทอท. เก็บค่า PSC สูงกว่า ในประเทศ 100 บาท ระหว่างประเทศ 700 บาท ทั้งที่มีบริการเหมือนกัน อาคารผู้โดยสาร ห้องน้ำ ที่จอดรถ, ค่าค่าธรรมเนียมในการขึ้น-ลงอากาศยาน / จัดเก็บอากาศยาน  (Landing/  Parking  Fee) ทอท.เก็บจากสายการบินสูงกว่า รวมถึงค่าบริการอื่นๆ ที่สายการบินต้องจ่าย ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ไม่จูงใจและกระทบต่อการเป็นศูนย์กลางการบินได้

  ขณะที่ ทย. เปิดให้ผู้ประกอบการท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการจำหน่ายสินค้าในสนามบิน มากกว่า ทอท. ที่เก็บค่าเช่าแพงและเน้นแบรนด์เนม และการให้สัมปทานเอกชนรายใหญ่ การบริหารงานมุ้งเน้นกำไร มีการปันผลผู้ถือหุ้นซึ่งมีต่างชาติได้รับผลประโยชน์ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น