xs
xsm
sm
md
lg

“อุตตม” บูมลงทุนเพิ่มรายได้เกษตรกรดันอีสานกลาง-บนศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“อุตตม” ลงพื้นที่ขอนแก่นเตรียมผลักดันพื้นที่อีสานตอนกลางและบนสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ หรือไบโอฮับ นำร่องเพิ่มมูลค่า “อ้อย” เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตกรเพิ่มหลังเอกชนแห่สนใจลงทุนเพียบต่อยอดจากอีอีซี ยันชาวไร่อ้อยได้รับเงินปัจจัยการผลิตที่รัฐบาลเตรียมสนับสนุนเพิ่มเติม 50 บาทต่อตัน โดยเตรียมจ่ายล็อตแรก ก.พ.นี้


นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ที่สมาคมชาวไร่อ้อย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น วันนี้(12 ธ.ค.) ว่ารัฐบาลมีนโยบายที่จะสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ “Bio Economy” โดยเฉพาะจากอ้อยที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบได้ซึ่งเป็นพืชเกษตรที่มีการเพาะปลูกมากในพื้นที่พื้นที่ภาคอีสานซึ่งสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสานตอนกลางและตอนบนได้

“ภาคเอกชนสนใจที่จะลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง และตอนบน ครอบคลุมจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร และขอนแก่น หากขยายพื้นที่การลงทุนต่อไปให้ครอบคลุมในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง และตอนบนในจังหวัดกาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มุกดาหาร และอุดรธานี โดยต่อยอดจากอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปจากอ้อยเป็นอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีฐานการผลิตแข็งแกร่งในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพให้ไปสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bio Hub ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกรในพื้นที่” นายอุตตมกล่าว

พื้นที่ดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลได้มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในรูปแบบเศรษฐกิจฐานชีวภาพ เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี 2561-2570 เพื่อผลักดันให้ไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศอย่างน้อย 190,000 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 85,000 บาทต่อคนต่อปี

ทั้งนี้ ไทยมีข้อได้เปรียบทางชีวภาพและมีศักยภาพด้านวัตถุดิบเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก และส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก หากมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเศรษฐกิจหลัก โดยนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพใน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) เคมีชีวภาพ (Biochemical) และชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceutical) ก็จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับสินค้าเกษตรในอนาคต และเป็นการเพิ่มรายได้จากฐานเดิมและต่อยอดไปสู่การสร้างฐานรายได้ใหม่

สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยเพื่อรองรับการก้าวสู่อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพนั้นจากภาวะราคาอ้อยตกต่ำกระทรวงอุตสาหกรรมได้ช่วยเหลือด้วยการเพิ่มเงินให้กับเกษตรกรเป็นปัจจัยการผลิตเพิ่มเติมตันละ 50 บาทซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 วงเงินงบประมาณ 6,500 ล้านบาท โดยรัฐบาลเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับราคาอ้อยในฤดูกาลผลิต (61/62) โดยจะช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยกับสํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) 50 บาทต่อต้นอ้อย แต่ไม่เกินรายละ 5,000 ตัน โดยงวดแรกจะจ่ายเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และส่วนที่เหลือจะจ่ายให้หลังจากปิดหีบแล้ว

นอกจากนี้ ได้มอบนโยบายและสั่งการให้ สอน.ปรับบทบาทเพื่อรองรับและเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ทั้งเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ และปัญหาราคาสินค้าตลาดโลกตกต่ำ ที่นำมาซึ่งการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ รวมถึงการปรับแก้กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการให้สอดรับกับการนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นไบโอชีวภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น