xs
xsm
sm
md
lg

“ช่อง 3” อ้าง 4 เหตุผลโละคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน 360 - “ช่อง 3” ออกอาการแพ้ภัยทีวีดิจิทัลและเศรษฐกิจ เอาพนักงานออกอีกระลอก คราวนี้จับตาแจ็กพอตฝ่ายข่าว ด้านช่อง 3 เร่งชี้แจงไม่มีจำนวนชัดเจน พร้อมอ้าง 4 เหตุผล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีข่าวการเลิกจ้างพนักงานกว่า 100 รายของช่อง 3 (วันที่ 3 ธันวาคม) ถือเป็นการเอาพนักงานออกอีกเป็นครั้งที่ 4 แล้วในรอบ 5 ปีหลังจากที่ทางกลุ่มช่อง 3 ได้เข้าประมูลและเริ่มดำเนินกิจการทีวีดิจิทัลมาถึง 3 ช่อง ส่งผลให้ต้นทุนดำเนินการเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมก็ยังไม่ค่อยดี งบโฆษณาที่หายไปมาก เพราะมีสื่อโซเชียลและออนไลน์เข้ามาแย่ง ผลประกอบการของช่อง 3 ในส่วนทีวีดิจิทัลก็ยังไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์


ครั้งนี้เน้นหนักไปที่ฝ่ายข่าวเป็นหลัก เพราะตามข่าวว่าเลิกจ้างมากกว่า 80 คน และเป็นช่วงคนอายุระหว่าง 40-55 ปีเป็นหลักที่ยังคงมีประสิทธิภาพในการทำงานอยู่ แต่คนภายนอกไม่รู้ว่าต้นทุนฝ่ายข่าวของช่อง 3 ทีวีทั้งแอนะล็อกกับดิจิทัลอีก 3 ช่องนั้นสูงแค่ไหน ยิ่งในช่วงหลังมานี้รายการข่าวแข่งขันสูงขึ้น เรตติ้งข่าวช่อง 3 ก็ไม่ได้เสถียรเท่าใด


ก่อนหน้านี้มีการตั้งบริษัทสำนักข่าว 3 หรือสำนักข่าวบีอีซี จำกัด ขึ้นมาเพื่อผลิตและทำรายการข่าวเพราะหวังว่าจะทำป้อนให้กับช่อง เพราะมีทั้งทีวีแอนะล็อกเดิมและต่อมาก็มีทีวีดิจิทัล เพิ่มพนักงานใหม่จำนวนมากเกือบหลักร้อยคนก็ว่าได้ แต่สถานการณ์ทีวีดิจิทัลไม่สดใส จึงกระทบรายได้รวมและกำไรของช่อง 3 บ้าง และจากต้นทุนที่สูงขึ้นและเม็ดเงินโฆษณาทีวีที่หายไปมากด้วย


นอกจากนั้นยังเป็นผลกระทบจากนโยบายการบริหารงานที่เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ทางตระกูลมาลีนนท์ได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร โดยที่นายประวิทย์ มาลีนนท์ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุดได้ลดบทบาทลงและถอยตัวเองออกไปจากการบริหาร แล้วให้ นายประชุม มาลีนนท์ เข้ามาบริหารแทน ได้เปิดทางให้อดีตผู้บริหารระดับสูงจากค่ายเอไอเอสเข้ามาบริหารหลายคนแบบยกทีมเลย ส่งผลให้ผู้บริหารเก่าระดับสูงบางรายเริ่มได้รับผลกระทบ แม้แต่ นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ ปฏิบัติหน้าที่แทนรักษาการกรรมการผู้จัดการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 มาตลอด ซึ่งเป็นคนที่มีบทบาทในการขยับเรตติ้งช่อง 3 มาตลอด และทำงานเข้าขาและสนิทกับนายประวิทย์ มาลีนนท์ มาตลอด ยังต้องลาออกไปบริหารที่ค่ายพีพีทีวี


อีกเหตุผลคือ การที่ช่อง 3 โดย บริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (มหาชน) จะครบสัมปทานที่ทำไว้กับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ จึงต้องมีการเขย่าองค์กรใหม่ เพื่อโยกพนักงานบางส่วนมาทำในนาม บริษัท สำนักข่าวบีอีซี


อย่างไรก็ตาม ช่วงเริ่มต้นของทีวีดิจิทัล ภาวะเศรษฐกิจยังไม่แย่เท่าใด ช่อง 3 ก็มีการให้พนักงานลาออกแล้วเช่นกัน ซึ่งครั้งแรกนั้นเพื่อต้องการเอาคนทำงานที่มีอายุมากออกทั้งๆ ที่เดิมทีช่อง 3 ไม่เคยมีการเกษียณอายุงาน แต่ครั้งนี้เป็นการเอาออกในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี และเมื่อปีที่แล้วเพิ่งมีการเอาพนักงานออกมาแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งคาดว่าในเร็วๆ นี้หรืออย่างช้าปีหน้าอาจจะมีการเอาพนักงานออกอีกในฝ่ายอื่นๆ โดยขณะนี้มีการนำเอาทีมงานบางส่วนจากฝ่ายผลิตละครไปทำงานที่เสริมให้กับฝ่ายข่าวด้วย


ตามรายงานข่าวว่า ครั้งนี้ในจำนวนผู้ที่ถูกเลิกจ้างเป็นพนักงานฝ่ายข่าวประมาณ 80 คน ที่เหลือเป็นฝ่ายอื่นๆ โดยที่ทางช่อง 3 จะมีการจ่ายเงินตามกฎหมายแรงงาน คือ ค่าชดเชย 10 เดือน ค่าตกใจ (ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า) 2 เดือน อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวว่าทางช่อง 3 ยังมีการจ่ายเงินชดเชยพิเศษเพิ่มอีกด้วย


การเลิกจ้างพนักงานของช่อง 3 ครั้งนี้มี 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มพนักงานวัยเกษียณอายุ ซึ่งในอดีตช่อง 3 ไม่เคยมีการให้พนักงานเกษียณอายุ ตามนโยบายของผู้บริหารยุคเดิม แต่ผู้บริหารยุคปัจจุบันเห็นว่าพนักงานที่ถึงวัยเกษียณอายุก็ควรให้เกษียณอายุไป แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.1 กลุ่มที่เข้าทำงานก่อนปี 2545 นับอายุเกษียณ 60 ปี และ 1.2 กลุ่มที่เข้าทำงานหลังปี 2545 นับอายุเกษียณ 55 ปี


กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มพนักงานที่ใช้วิธีการประเมินจากผลการทำงานช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มพนักงานออกโดยสมัครใจ ซึ่งคนที่ถูกพิจารณาให้ออกจะได้เงิน 10+1 เดือน พร้อมส่วนเพิ่มพิเศษ 0.25 คูณจำนวนปีที่ทำงาน โดยเป้าหมายแรกของช่อง 3 ก็คือพนักงานรุ่นแรกที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขเก่า คือไม่มีเกษียณอายุประมาณ 100 คน และเป้าหมายที่ 2 คือพนักงานที่ไม่ perform

*** ช่อง 3 ชี้แจง 4 เหตุผล
ล่าสุดไทยทีวีสีช่อง 3 ชี้แจงข้อเท็จจริง โดยสรุปว่า 1. ที่ผ่านมาช่อง 3 ได้ปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยพิจารณาถึงจำนวนพนักงานและการตอบแทนพนักงานหลังเกษียณอายุ เพราะช่อง 3 มีพนักงานจำนวนหนึ่งที่อายุเกินกว่า 60 ปี ดังนั้นโครงการเกษียณอายุจึงเป็นทางเลือกให้พนักงานกลุ่มนี้ ซึ่งจำนวนผลตอบแทนที่มอบให้ในโครงการเกษียณก็สูงกว่าสิ่งที่กฎหมายแรงงานได้กำหนดไว้ ยังมีการมอบประกันสุขภาพให้พนักงานที่เข้าโครงการต่อไปแม้จะเกษียณอายุไปแล้ว


2. กรณีที่พนักงานรับเงินตามโครงสร้างการเกษียณแล้ว แต่บริษัทยังเล็งเห็นศักยภาพว่ายังสามารถปฏิบัติภารกิจในตำแหน่งงานนั้นได้ต่อไป และจะได้รับการว่าจ้างต่อไปตามความเหมาะสม

3. ตามที่มีกระแสข่าวออกมาว่าช่อง 3 ปลดพนักงานกว่า 80 คนนั้นคลาดเคลื่อนจากความเป็นความจริง เพราะขณะนี้บริษัทยังอยู่ในการพิจารณาอัตรากำลังที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของทีวีดิจิทัล

4. กรณีที่มีการเสนอข่าวว่ามีการปลดพนักงานอายุระหว่าง 40-55 ปีนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะที่จริงแล้วพนักงานในวัยนี้ถือเป็นกำลังสำคัญต่อการผลิตผลงานคุณภาพของช่อง 3


กำลังโหลดความคิดเห็น