xs
xsm
sm
md
lg

TMB จับมือ ซี.เจ.ซูเปอร์มาร์เก็ต ลุย “TMB Supply Chain Financing”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทีเอ็มบี จับมือ ซี.เจ.ซูเปอร์มาร์เก็ต คอนวีเนียนสโตร์สัญชาติไทย ร้านสะดวกซื้อของคนไทยเพื่อคนไทย ส่ง “TMB Supply Chain Financing” ช่วยยกระดับ และเพิ่มประสิทธิภาพในด้านของการบริหารจัดการประสิทธิภาพตลอดทั้งซัปพลายเชน

“ทีเอ็มบีให้บริการลูกค้าธุรกิจบนความคิดที่แตกต่าง โดยเราจะใช้แนวคิดของพวกฟินเทคเข้ามาพัฒนาโซลูชัน Supply Chain Financing โดยมองถึงการสร้าง Ecosystem ขึ้นมาเพื่อดึงให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในซัปพลายเชนเข้ามาร่วมอยู่ใน Ecosystem ด้วยกัน โดยมีแนวคิดว่าทุกส่วนจะต้องวิน เราไม่ได้มองไปที่การสร้างรายได้หรือเติบโตจากค่าธรรมเนียม แต่ต้องการให้ทั้งซัปพลายเชนของลูกค้ามีการเติบโตอย่างยั่งยืน”

คำกล่าวของ นายรัชกร ชยาภิรัต หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกรรมทางการเงินภายในประเทศ ทีเอ็มบี สะท้อนให้เห็นแนวทางการทำตลาดของ “TMB Supply Chain Financing” ได้เป็นอย่างดี และตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินกลยุทธ์ในรูปแบบที่ว่านี้ก็คือ ความร่วมมือระหว่างทีเอ็มบีกับ ซี.เจ.ซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้บริหารเชนคอนวีเนียนสโตร์สัญชาติไทย ร้านสะดวกซื้อของคนไทยเพื่อคนไทย ในฐานะของสปอนเซอร์ “TMB Supply Chain Financing”

Supply Chain Financing และ E–Supply Chain มีเทรนด์การเติบโตที่น่าสนใจ หลังจากที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อการทำธุรกรรมการเงินของไทย เริ่มจากการเดินหน้านโยบาย National E-Payment ที่ทำให้การโอนไม่มีค่าธรรมเนียม ทำให้ต้นทุนในการ โอน รับ จ่าย หมดไป ประกอบกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้การรับ-ส่งข้อมูลเปลี่ยนจากกระดาษมาสู่อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทั้ง 2 อย่างเป็นหัวใจสำคัญที่เข้ามาช่วยทำให้ซัปพลายเชนมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้

ทีเอ็มบีมองว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายกลางกับรายเล็กต้องการเงินทุนหมุนเวียนค่อนข้างเยอะ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็มีข้อจำกัด แต่เมื่อทั้งหมดทำบนแพลตฟอร์มที่เป็นดิจิทัลทำให้ธนาคารเห็นข้อมูลที่วิ่งผ่านผู้ซื้อและผู้ขายหมุนเวียนบนซัปพลายเชน และธนาคารสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์สินเชื่อได้ ทำให้การให้สินเชื่อเร็วขึ้น วิเคราะห์ความเสี่ยงได้ดีขึ้น นำไปสู่การให้สินเชื่อที่เร็ว วงเงินสูงขึ้นกว่าการให้สินเชื่อที่ไม่มีการค้ำประกัน

ความร่วมมือของทีเอ็มบี กับ ซี.เจ. ซูเปอร์มาร์เก็ต มีเป้าหมายที่จะเข้ามาช่วยยกระดับ และเพิ่มประสิทธิภาพในด้านของการบริหารจัดการประสิทธิภาพตลอดทั้งซัปพลายเชน โดย Pain Point ของระบบซัปพลายเชน ซึ่งที่ผ่านมา ซี.เจ. ซูเปอร์มาร์เก็ต มีการสั่งของกับซัปพลายเออร์ตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ โดยใช้เอกสารกระดาษ แม้ว่า ซี.เจ. ซูเปอร์มาร์เก็ต จะมีระบบส่งข้อมูลเป็นอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว แต่ซัปพลายเออร์หลายรายยังคงนิยมระบบเป็นเอกสารกระดาษ ทำให้เสียเวลา ต้นทุนก็มาก แล้วข้อมูลบางครั้งก็หายหรือตกหล่นไป

“จะทำอย่างไรที่ธนาคารจะหาแพลตฟอร์มมาช่วยประยุกต์จากการทำธุรกรรมการสั่งซื้อจากกระดาษมาเป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด โดย ซี.เจ. ซูเปอร์มาร์เก็ต สามารถส่งข้อมูลสั่งซื้อเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซัปพลายเออร์สามารถนำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ไปผลิตสินค้า และสามารถใช้แพลตฟอร์มนี้เปลี่ยนข้อมูลคำสั่งซื้อมาเป็นใบสั่งซื้ออิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที แล้วข้อมูลก็จะอยู่บนแพลตฟอร์มที่สามารถส่งต่อมายัง ซี.เจ. ซูเปอร์มาร์เก็ต ได้ทันที ธุรกรรมทั้งหมดทำบนแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สามารถลดต้นทุน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการได้ และข้อมูลที่อยู่บนแพลตฟอร์มนี้สามารถเก็บเอามาวิเคราะห์ได้ตลอดไป”

ความร่วมมือของทีเอ็มบี กับ ซี.เจ. ซูเปอร์มาร์เก็ต จึงเป็นการเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่จะนำไปสู่การเติบโตที่เข้มแข็งในอนาคตของทั้งตัวสปอนเซอร์ คือ ซี.เจ.ซูเปอร์มาร์เก็ต และตัวซัปพลายเออร์ที่เป็นคู่ค้าของ ซี.เจ.ซูเปอร์มาร์เก็ต

นายวีรธรรม เศรษฐสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ซี.เจ.ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นเชนค้าปลีกขนาดใหญ่คนไทยเจ้าแรกที่เข้ามาอยู่ในตลาดแล้วมียอดขายเกินหมื่นล้าน ในขณะที่คู่แข่งในตลาดคือค้าปลีกข้ามชาติรายใหญ่ กลยุทธ์สำคัญของเราคือ การจัดการเรื่องของ Inventory หรือสินค้าคงคลัง ซึ่งเรามั่นใจว่าเรามีระบบซัปพลายเชนที่มีประสิทธิภาพไม่แพ้ผู้ประกอบการต่างชาติ ปัจจุบันซัปพลายเออร์รวมกว่า 600 ราย มีซัปพลายเออร์รายใหญ่กว่า 200 ราย

“สิ่งที่ต้องทำทุกวัน คือ การคำนวณการสั่งซื้อสินค้าของสาขากว่า 300 สาขา และสินค้ากว่า 10,000 SKU รวมเป็นชุดข้อมูลกว่า 3 ล้าน ชุดที่ต้องเก็บมาแล้วเข้าสู่ระบบจะต้องมีการคาดการณ์ว่าจะต้องมีสินค้ากี่ชนิด กี่ชิ้นอยู่ในสาขา เพื่อไม่ให้สต๊อกมากเกินไป แต่ยังเพียงพอต่อการขาย เมื่อแต่ละสาขาคำนวณแล้วก็จะส่งมาที่ส่วนกลาง แล้วส่วนกลางก็จะดูว่ามีสินค้าที่คลังเท่าไหร่ และต้องสั่งสินค้าเพิ่มอีกเท่าไหร่ ระบบ EDI ของทีเอ็มบีเข้ามาช่วยในการส่งใบสั่งซื้อไปที่ซัปพลายเออร์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เรารู้แล้วว่าจะต้องสั่งของเท่าไร ซัปพลายเออร์ก็จะเห็นคำสั่งซื้อแบบไม่ตกหล่น ซึ่งการสร้าง Ecosystem ของทีเอ็มบีนี้ถือว่ามีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจของทั้งเราและคู่ค้าของเราได้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้ ทีเอ็มบี และ ซี.เจ.ซูเปอร์มาร์เก็ต ได้จัดงาน “Win with CJ Super Market Program by TMB” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ TMB Supply Chain Financing และ E-Supply Chain โดยมีซัปพลายเออร์คู่ค้าของ ซี.เจ.ซูเปอร์มาร์เก็ต ร่วมงานกว่า 200 บริษัท

“ธนาคารยุคใหม่ต้องมองถึงการสร้าง Ecosystem ซึ่ง Ecosystem จะเกิดขึ้นเองไม่ได้ ต้องมีการจับมือกัน และทุกคนต้องเห็นประโยชน์ร่วมกัน เรียกได้ว่า Win Win Win กันทุกฝ่าย ซี.เจ.ซูเปอร์มาร์เก็ตก็ Win เพราะสามารถบริหารซัปพลายเชน และสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ซัปพลายเออร์เองก็ Win ในแง่ของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและเร็วขึ้น ส่วนทีเอ็มบีจะ Win ในแง่ของการได้ลูกค้าใหม่ๆ ด้วยการได้รับข้อมูลที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ สามารถนำมาวิเคราะห์ และสามารถปล่อยสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถเติบโต “ได้มากกว่า” ทั้งซัปพลายเชน” คุณรัชกรกล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น