xs
xsm
sm
md
lg

รถร่วมฯ ขสมก.บุกคมนาคมพรุ่งนี้ ทวงคำตอบขึ้นค่าโดยสารตามต้นทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รถร่วมฯ ขสมก.บุกคมนาคมทวงคำตอบปรับค่าโดยสารที่สะท้อนต้นทุนจริง จี้เร่งปฏิรูปรถเมล์หลัง ครม.อนุมัติ 2 ปียังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ชี้ถึงเวลาแก้ปัญหาทั้งระบบ ปรับคุณภาพต้องแก้ให้ตรงจุด ระบุเอกชนพร้อมนานแล้วรัฐไม่ชัดเจนเสียที

รายงานข่าวแจ้งว่า วันจันทร์ที่ 19 พ.ย.นี้ เวลา 09.00 น. ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พร้อมสมาชิกประมาณ 200 คน จะเดินทางไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อขอทราบความคืบหน้าการปรับอัตราค่าโดยสารรถร่วมฯ ขสมก. ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการเคยเข้าพบและยื่นหนังสือต่อ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แล้ว และได้รับปากที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการแต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมา

โดยเสนอขอปรับค่าโดยสารรถธรรมดาจาก 9 บาท เป็น 12 บาทตลอดสาย, รถปรับอากาศเริ่มต้นที่15 บาท และเพิ่มระยะละ 2 บาท ส่วนรถโดยสารใหม่ที่เข้าสู่การปฏิรูป จัดเก็บค่าโดยสาร 2 ระยะ คือ อัตราที่ 4 กม.แรก เก็บที่ 20 บาท เกินจากนั้นเก็บที่ 25 บาท ซึ่งตามผลการศึกษาของ สจล.ร่วมกับสถาบันทีดีอาร์ไอ พบต้นทุนค่าโดยสารเกือบ 28 บาท

นางภัทราวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางและสมาคมพัฒนาธุรกิจรถร่วมเอกชน รวมถึงบรรดาผู้ประกอบการที่ร่วมเดินรถประจำทางกับ ขสมก.ได้รับความเดือดร้อนจากค่าโดยสารที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 58 ได้พิจารณาปรับค่าโดยสารรถร้อนจาก8 บาท เป็น 9 บาท รถปรับอากาศปรับขึ้นระยะละ 1บาท นั้นเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นเฉพาะค่า NGV ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ขณะที่กระทรวงคมนาคมสั่งให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ศึกษาต้นทุนของรถโดยสาร แต่ถึงขณะนี้ไม่มีความคืบหน้า ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากค่าโดยสารไม่สะท้อนต้นทุนแท้จริงแล้ว ผู้ประกอบการต้องพบกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนเครื่องยนต์จากดีเซลเป็น NGV ตามนโยบายรัฐบาลจากการสิ้นเปลืองอะไหล่, ต้นทุนค่าแรงขั้นต่ำปรับ 2 ครั้ง อยู่ที่ 325 บาทต่อวัน, ปัญหาการจราจรติดขัด ทำเที่ยววิ่งไม่ได้กระทบรายได้ลดลง, ค่าเช่าอู่ และพื้นที่จอดเพิ่มขึ้น, ค่าใช้จ่ายด้านอุบัติเหตุ ค่าชดเชย ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจ

“ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทราบถึงปัญหาและขอรับความช่วยเหลือ โดยวันที่ 31 พ.ค. และ 31 ส.ค. 61 ผู้ประกอบการได้พบ รมว.คมนาคม ผู้แทน ขสมก., ขบ. และผู้เกี่ยวข้อง โดยระบุให้รอผลศึกษาต้นทุนรถโดยสารสาธารณะ แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย”

นอกจากนี้ มติ ครม.เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 59 เห็นชอบมติ ครม.เมื่อ 11 ม.ค. 26 ที่ให้ ขสมก.เป็นผู้ประกอบการเดินรถเพียงรายเดียว ส่งผลให้รถร่วมฯ ขสมก.ต้องไปขึ้นตรงต่อ ขบ. จนถึงวันนี้ ขบ.ยังไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการได้ นโยบายทุกอย่างขาดความชัดเจน กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้สภาพรถทรุดโทรมเพราผู้ประกอบการขาดรายได้ที่เพียงพอในการปรับปรุงคุณภาพ

นางภัทรวดีกล่าวว่า “ผู้ประกอบการพร้อมปรับตัว ปรับปรุงรถ และบริการ แต่นโยบายรัฐไม่ชัดเจนเสียที มติ ครม.ออกมาแล้วแต่ถึงวันนี้ ขบ.ไม่ทำอะไรเลย เมื่อไม่มีความชัดเจน ว่าอนาคตการเดินรถเป็นอย่างไร ผู้ประกอบการจะไปกู้เงินอย่างไร ใครจะให้กู้ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้เสนอไปว่าจะลงทุนซื้อรถใหม่ มีระบบ GPS และมาตรฐานตามที่รัฐกำหนด มีระบบ e-ticket ตามนโยบายตั๋วร่วม เราพร้อมให้ความร่วมมือ แต่ภาครัฐไม่มีอะไรตอบสนองเลย”

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วยเพื่อขอความช่วยเหลือแก้ปัญหาขาดทุนเรื้อรัง ขอเรียกร้องให้เร่งปฏิรูปและกำหนดค่าโดยสารที่สะท้อนต้นทุนให้ชัดเจนเพื่อร่วมมือกันยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารสาธารณะอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น