xs
xsm
sm
md
lg

"สนธิรัตน์"แจ้งคนไทยเลิกกังวล ยัน “สารสกัดจากกัญชา” จดสิทธิบัตรไม่ได้ ทุกคนสามารถวิจัย-ต่อยอดได้ตามปกติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“พาณิชย์” แจ้งคนไทยไม่ต้องกังวล “สารสกัดจากกัญชา” จดสิทธิบัตรไม่ได้ ส่วนที่ต่างชาติมายื่นจด เป็นการรับคำขอตามขั้นตอนตามกฎหมาย ยังไม่อนุมัติ ใช้เวลาพิจารณาอีกนาน ระบุคนไทยยังสามารถวิจัย ต่อยอดได้ตามปกติ และสามารถยื่นจดสิทธิบัตรได้ด้วย เผยยังเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนยื่นข้อมูลหลักฐานประกอบการพิจารณาได้อีก

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีมีนักวิจัยกังวลต่อการเข้ามายื่นจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติของบริษัทต่างชาติในประเทศไทยว่า กระทรวงพาณิชย์ขอยืนยันว่าสารสกัดจากกัญชา ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ เพราะมาตรา 9 (1) ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร ระบุไว้ชัดเจนว่าจุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ ซึ่งหมายความว่าสารสกัดจากกัญชาไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ และหากมีใครมายื่น ก็รับจดไม่ได้

"ตอนนี้มีความเข้าใจผิด มีความเข้าใจกันคลาดเคลื่อนกันว่ากระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาไปแล้ว ซึ่งความจริง ไม่ได้มีการรับจดแต่อย่างใด มีแต่รับคำขอจดสิทธิบัตร ซึ่งตามกฎหมาย เมื่อมีคนมายื่น และประกาศโฆษณาแล้ว 90 วัน ถ้าไม่มีใครมาคัดค้าน ก็ต้องรับคำขอเอาไว้ ระบบเป็นแบบนี้เหมือนกันทั่วโลก และเมื่อรับคำขอแล้ว ยังมีขั้นตอนการพิจารณาอีกถึง 5 ปี ที่เขาจะต้องยื่นแสดงว่าเป็นของใหม่ เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ แต่ถ้าตรวจสอบแล้วไม่ใช่ หรือถ้าเป็นสารสกัดจากกัญชา เราก็ไม่รับจด คำขอก็ต้องตกไปตามระบบ"นายสนธิรัตน์กล่าว

ส่วนในอนาคต หากจะมีการยื่นจดสิทธิบัตรที่มีสารสกัดจากกัญชาประกอบนั้น การประดิษฐ์ที่ยื่นขอจดสิทธิบัตร ต้องมาจากการคิดค้นดัดแปลง และต้องไม่ซ้ำกับผู้อื่น และที่สำคัญต้องไม่ใช่การนำสารสกัดกัญชามายื่นจด

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมฯ ขอยืนยันว่าสารสกัดจากกัญชาซึ่งเป็นสารสกัดจากพืช ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร เพราะมาตรา 9 ระบุไว้ชัดเจนว่าสารสกัดจากธรรมชาติไม่ได้รับการคุ้มครอง หมายความว่าจะไม่มีใครเป็นเจ้าของสิทธิในสารสกัดจากกัญชาตามธรรมชาติตามกฎหมายสิทธิบัตร ทุกคนในไทยมีสิทธิที่จะวิจัยและนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

ทั้งนี้ ในกรณีที่มีข้อกังวลว่าการปลดล็อกกฎหมายเพื่อให้มีการวิจัยและพัฒนาการใช้กัญชาทางการแพทย์ของไทยจะไม่มีประโยชน์ เนื่องจากมีบริษัทต่างชาติได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติแล้วนั้นเป็นการเข้าใจผิด เพราะสารสกัดจากกัญชา กรมฯ ไม่รับจดอยู่แล้ว กฎหมายเขียนไว้ชัดเจน แต่ถ้าเอาสารสกัดที่ได้ไปผสมกับอย่างอื่นจนเกิดเป็นยา สูตรยา หรือเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ สามารถยื่นจดสิทธิบัตรได้ นักวิจัยคนไทยที่คิดค้นสูตรที่แตกต่างจากคนอื่นก็สามารถยื่นจดสิทธิบัตรได้เช่นเดียวกัน

ส่วนกรณีที่มีบริษัทต่างชาติมายื่นจดสิทธิบัตร เป็นสิทธิที่ผู้ประดิษฐ์สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย โดยการยื่นจด เมื่อคำขอสิทธิบัตรมีเอกสารถูกต้องครบถ้วน และในช่วงที่ประกาศโฆษณา 90 วัน ไม่มีใครมายื่นคัดค้าน เจ้าหน้าที่ก็ต้องรับคำขอเอาไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ยื่นได้รับการคุ้มครองแล้ว เป็นเพียงขั้นตอนการรับจดสิทธิบัตร ส่วนจะได้รับจดหรือไม่ได้ ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรจะเป็นผู้พิจารณาต่อไป

“ผู้ที่ยื่นจดจะต้องมายื่นเอกสารหลักฐานที่ยืนยันว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ภายใน 5 ปี ถ้าผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรพิจารณาแล้วเห็นว่าถูกต้องตามเงื่อนไข เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ก็จะได้รับจดสิทธิบัตร แต่ถ้าไม่เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ก็ไม่ได้รับจด เป็นไปตามมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ได้ดำเนินการในลักษณะนี้” นายทศพลกล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การพิจารณาคำขอเกี่ยวกับสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติดังกล่าวด้วยความรอบคอบ รัดกุม และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย กรมฯ ยินดีเปิดรับข้อมูลและหลักฐานทางวิชาการจากทุกภาคส่วน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา โดยใครมีเอกสารหลักฐานอะไร ก็ให้ยื่นเข้ามาได้
  นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (แฟ้มภาพ)


กำลังโหลดความคิดเห็น