xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียว MOU การบินอาเซียน เพิ่มสิทธิเส้นทางระหว่างประเทศ หนุนเที่ยวเมืองรองของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ครม.เห็นชอบร่างเอ็มโอยู “การบินและการควบคุมเรือ” อาเซียน “อาคม” เผยไทยเตรียมลงนามในการประชุม รมต.ขนส่งอาเซียน 9 พ.ย.นี้ เพิ่มสิทธิการบินเชื่อมจุดในประเทศสมาชิกมากกว่า 2 จุด หนุนเปิดเส้นทางบินเชื่อมเมืองรองของไทย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 พ.ย.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอร่างเอกสาร 6 ฉบับ ที่จะมีการรับรอง 4 ฉบับ และลงนาม 2 ฉบับ ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 24 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-จีน ครั้งที่ 17 การประชุมขนส่งอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 16 และการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 9 ซึ่งประเทศไทยโดยกระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 8-9 พ.ย. 2561

ทั้งนี้ จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับในวันที่ 9 พ.ย. ได้แก่ ร่างพิธีสาร 4 ว่าด้วยสิทธิการบินเชื่อมจุดในประเทศสมาชิกอาเซียน (Protocol 4 under ASEAN Multilateral Agreement on the Full Liberalization of Passenger Air Service on Co - Terminal Right between Points within the Territory of Any Other Member State) ซึ่งมีการขยายสิทธิการบินเชื่อมจุดของสายการบินที่กำหนดของคู่ภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายในการให้บริการ 2 จุด หรือมากกว่านั้นในอีกประเทศหนึ่งในเส้นทางการบินเดียวกัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการบินร่วมกันของประเทศในอาเซียน

เช่น เส้นทางกัวลาลัมเปอร์-หาดใหญ่-เชียงใหม่ เป็น Stop Over โดยสายการบินสามารถส่งผู้โดยสารระหว่างทาง (หาดใหญ่) และปลายทาง (เชียงใหม่) ได้ แต่ไม่สามารถรับผู้โดยสารใหม่จากที่หาดใหญ่ได้ ส่วนเที่ยวกลับเป็นการบินตรงจากเชียงใหม่-กัวลาลัมเปอร์ เป็นต้น ซึ่งรูปแบบนี้เป็นการส่งเสริม

นอกจากนี้ จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยและการตรวจควบคุมเรือที่ไม่อยู่ภายใต้การบังคับของอนุสัญญาระหว่างประเทศในประเทศสมาชิกอาเซียน (Memorandum of Understanding on the Improvement of Safety Standards and Inspection for Non - Convention Ships within ASEAN Member States) เพื่อปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยและการตรวจควบคุมความปลอดภัยของเรือบรรทุกสินค้าน้ำหนักต่ำกว่า 500 ตันกรอส เรือประมง เรือสำราญและกีฬา เรือสำเภาที่มีขนาดต่ำกว่า 500 ตันกรอส ร่วมกัน จากปัจจุบันที่แต่ละประเทศจะกำหนดวิธีปฏิบัติกันเอง

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบรายละเอียดในการแก้ไขบันทึกความเข้าใจ 3 ประเทศระหว่างรัฐบาลแห่งอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ว่าด้วยการขยายเส้นทางการบินเพื่อส่งเสริมการบินร่วมกัน โดยกำหนดสิทธิการขนส่งครอบคลุมเสรีภาพที่ 3, 4 และ 5 โดยไม่จำกัดความจุ ความถี่ รวมถึงการใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมสำหรับจุดบินภายในประเทศ (Domestic Code Share) โดยได้ตกลงที่จะเพิ่มจุดบินที่ไม่ใช่เมืองหลวง ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยได้เปิดไปแล้ว 5 จังหวัด คือ หาดใหญ่, ปัตตานี, นราธิวาส, ตรัง, นครศรีธรรมราช และในรอบนี้ได้เพิ่มที่สุราษฎร์ธานี เป็นจุดบินที่ 6 และปรับจากเดิมที่ต้องระบุสายการบินที่กำหนดทำการบินเป็นการกำหนดหลักการทั่วไปสำหรับการอนุญาตแต่งตั้งสายการบินได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งหลังลงนามแล้วขั้นตอนต่อไปจะต้องเสนอต่อ สนช.ต่อไป

การให้สิทธิต่างๆ จะทำให้สายการบินของประเทศไทยและประเทศในอาเซียนสามารถเปิดเส้นทางการบินระหว่างกันได้มากขึ้น และเป็นแนวทางที่จะส่งเสริมการบินไปยังเมืองรองของแต่ละประเทศได้ ลดความแออัดของสนามบินหลัก ทั้งนี้ ในปี 2562 มีการขอเส้นทางการบินไทย-อินเดียเพิ่มจากปี 2561 ซึ่งอินเดียเป็นตลาดการบินที่มีการเติบโตสูง


กำลังโหลดความคิดเห็น