xs
xsm
sm
md
lg

“มิตรผล” ผนึก อบก.เซ็น 8 องค์กร ซื้อขายคาร์บอนเครดิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“กลุ่มมิตรผล” จับมือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเซ็นสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับ 8 องค์กร หวังภาคธุรกิจร่วมมือเพิ่มขึ้นเพื่อลดปัญหาโลกร้อน ด้านโรงงานน้ำตาลจี้รัฐเร่งประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2560/61 หลังประเมินพบว่าต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายคืนเงินส่วนต่างของราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นสุดท้ายให้แก่โรงงานเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

วันนี้ (29 ต.ค.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ บอก. (องค์การมหาชน) ร่วมกับกลุ่มมิตรผล จัดพิธีลงนามการซื้อขายคาร์บอนเครดิตประจำปี 2561 เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาโลกร้อนภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (T-VER) โดยมีธนาคารกสิกรไทย, บมจ.การบินไทย, โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ, บริษัท สแครทช์ เฟิร์สท์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมลงนามในครั้งนี้ สอดคล้องนโยบายรัฐที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 6-20% ภายในปี 2563 และระยะยาวลดลง 20-25% ภายในปี 2573

นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผลมีโรงไฟฟ้าชีวมวล 9 โรงรวมกำลังผลิตไฟฟ้ากว่า 700 เมกะวัตต์ และมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมหลังจากเป็น 1 ใน 17 รายที่ชนะประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm โดยชนะประมูล 1 โครงการ กำลังผลิต 26 เมกะวัตต์ที่ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น คาดว่าจะผลิตไฟจ่ายเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563

กลุ่มมิตรผลเป็นผู้ขายคาร์บอนเครดิตรายใหญ่ของประเทศตามนโยบายสร้างสังคมคาร์บอนต่ำโดยมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองรวม 4.89 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งได้จากการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้ามิตรผล ไบโอเพาเวอร์ จ.สุพรรณบุรี และมีแผนจะขยายเพิ่มเติม

สำหรับผลการดำเนินงานโครงการ T-VER ของกลุ่มมิตรผลที่ผ่านมา มีผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมจำนวน 26 องค์กร โดยมีการขายคาร์บอนเครดิตไปแล้วกว่า 1.9 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็น 90% ของตลาดคาร์บอนเครดิตประเทศไทยตามมาตรฐาน T-VER คาดหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นให้ภาคประชาสังคมอืนๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน และหากภาคธุรกิจหรือภาคส่วนอื่นๆ ร่วมใจซื้อคาร์บอนเครดิตจะเป็นแรงจูงใจให้มีผู้พัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น

รง.น้ำตาลจี้รัฐประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 61/62

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) กล่าวว่าว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล มีความกังวลต่อปัญหาการขาดสภาพคล่องในการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบฤดูกาลผลิตปี 2561/62 เนื่องจากในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐยังไม่ได้ประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดูกาลผลิตปี 2560/61 ซึ่งตามกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะต้องคำนวณราคาอ้อยขั้นสุดท้ายภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยคาดว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในฤดูการผลิตปีนี้จะต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ประกาศไว้อยู่ที่ 880 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลจะได้ดำเนินการขอรับเงินส่วนต่างคืนจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อนำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

จากการประเมินเงินส่วนต่างดังกล่าว คาดว่าโรงงานน้ำตาลจะได้รับเงินชดเชยส่วนต่างราคาอ้อยขั้นต้นที่ได้จ่ายสูงเกินกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายไปก่อนแล้ว ประมาณ 17,000-18,000 ล้านบาท ไม่รวมเงินชดเชยในส่วนผลตอบแทนการผลิตที่โรงงานน้ำตาลจะได้รับอีกประมาณ 5,500 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 22,000-23,000 ล้านบาท จากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งโรงงานจะได้นำเงินดังกล่าวมาใช้เสริมสภาพคล่องรองรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูกาลผลิตปี 2561/62 เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ได้รับผลกระทบจากราคาตลาดโลกที่ตกต่ำ ส่งผลต่อราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูกาลผลิตปีนี้จะอยู่ในระดับต่ำกว่า 700 บาทต่อตันอ้อย

“เรากำลังรอเงินส่วนต่างจากราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นสุดท้ายของปีนี้ เพื่อนำมาใช้หมุนเวียนในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในรอบการผลิตปี 2561/62 หากหน่วยงานภาครัฐประกาศราคาขั้นสุดท้ายได้เร็วจะยิ่งดีมาก เพราะเป็นเงินที่โรงงานน้ำตาลที่ออกไปก่อนแล้ว ต้องไปทำเรื่องขอรับคืน เพื่อนำมาใช้เสริมสภาพคล่องและใช้จ่ายให้แก่ชาวไร่ที่จะส่งมอบผลผลิตอ้อยเข้าหีบ คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 120-125 ล้านตันอ้อย” นายสิริวุทธิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น